บทความศักยภาพการขนส่งทางรางของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง: การขนส่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)

บทความศักยภาพการขนส่งทางรางของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง: การขนส่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2567

| 774 view

บทนำ

ระบบการขนส่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางรางซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งบนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งในยุคปัจจุบัน

รถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) (中欧班列 (成渝))หรือ (China Railway Express Trains (Chengdu & Chongqing)) เป็นหนึ่งในเส้นทางที่พัฒนามาจาก “ยุทธศาสตร์อูฐเหล็ก” (钢铁骆驼หรือ Steel camel) ซึ่งหมายถึงรถไฟขนส่งสินค้าข้ามทวีปไม่ง้อทะเล ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาจนกลายเป็น “เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป”(China – Europe Railway Express) เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างประเทศจีนและนานาประเทศ และเป็นสะพานสำคัญสำหรับการสื่อสารเชิงนโยบายระหว่างประเทศการเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวก การเปิดโอกาสทางการค้า ช่องทางการเงิน และความเข้าใจกันระหว่างผู้คน

1

ในปัจจุบัน ศักยภาพและความสามารถในการขนส่งทางรางของ “เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)” กำลังกลายเป็นเส้นทางขนส่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองในประเทศจีน ถือเป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงทางการค้าและการขนส่งระหว่างภูมิภาคภายใต้นโยบายเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง (成渝地区双城经济圈หรือ Chengdu-Chongqing economic circle) ที่ได้เปิดโอกาสและประสบการณ์ใหม่ในการเคลื่อนย้ายและพัฒนาทางการขนส่งที่รวดเร็ว

เขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง นอกจากจะเป็นจุดตัดผ่านระหว่างโครงการ “สายแถบและเส้นทาง” (One Belt One Road) และ “เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำแยงซี” (Yangtze River Delta: YRD) แล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่” (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ซึ่งเชื่อมโยงภาคตะวันตกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเข้ากับเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ทำให้ภูมิภาคจีนตะวันตกสามารถกระจายสินค้าไปสู่ยุโรปและภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางที่มีศักยภาพสูง และเป็นหัวรถจักรชักนำความเจริญเติบโตมาสู่พื้นที่จีนภาคตะวันตกตอนใน โดยผลักดันการขนส่งสินค้าด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ทางทะเล และทางบก

การวางแผนการพัฒนาโดยรวมและปรับปรุงเส้นทางเอเชีย-ยุโรป ภายใต้ “เค้าโครงแผนการสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง” (成渝地区双城经济圈建设规划纲要) ได้เสริมสร้างความเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป และส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจจากความเชื่อมโยงกับแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย-ยุโรป 

2

 ภาพรวมของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)

 เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “ช่องทางการขนส่งขับเคลื่อนโลจิสติกส์” “โลจิสติกส์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้า” และ “เศรษฐกิจและการค้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรม” โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มบทบาททางโลจิสติกส์ระหว่างมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการช่องทางดังกล่าวกับโลจิสติกส์ การค้า และอุตสาหกรรม บนพื้นฐานของความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างจีนและยุโรป เพื่อพัฒนาห่วงโซ่วงจรการขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)ไม่ว่าจะเป็นในด้านเส้นทาง จำนวนการขนส่งสินค้า คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอื่น ๆ รวมไปถึงการเสริมสร้างการเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ การปรับปรุงระบบไปรษณีย์ข้ามพรมแดนและสร้างศูนย์รับส่งไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่ท่าเรือทางรถไฟ 

นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้พยายามผลักดันบทบาทการเป็นศูนย์กลางการขนส่งรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป โดยนครเฉิงตูได้มีการสร้างเครือข่ายเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศและระบบกระจายสินค้า ที่เดินทางไปยังยุโรปทางตะวันตก มองโกเลียและรัสเซียทางตอนเหนือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทางตะวันออก และอาเซียนทางตอนใต้ ในขณะที่นครฉงชิ่งได้มีการสร้างระบบ “๓+๘+N” ได้แก่ ๓ ศูนย์กลาง (ฮับ) ขนส่ง ๘ ศูนย์กระจายสินค้าใน ๑๐๐ กว่าเมือง สะท้อนถึงความกว้างขวางและความยืดหยุ่นของเครือข่ายรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) ที่มีเครือข่ายหลักและสาขาย่อยที่กระจายทั่วทวีปยุโรปและเอเชีย โดยมีเส้นทางหลักดังนี้

นครเฉิงตู: เดินทางออกจากสถานี Chengxiang Railway Station ผ่านท่าเรือ Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส ไปยังสถานี Lodz Station ในโปแลนด์ (ทิลเบิร์ก เนเธอร์แลนด์/นูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี) และเดินทางสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รวมระยะทาง ๙,๙๖๕ กิโลเมตรใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๑๑ - ๑๒ วัน

4

จุดเริ่มต้นสถานีของนครเฉิงตู: สถานี Chengxiang Railway Station

นครฉงชิ่ง: เดินทางออกจากสถานี Tuanjie Village Central Station ผ่านท่าเรือ Alashankou (Horgos) เขตปกครองตนเองซินเจียง คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ ไปยังสถานีดูสบูร์ก ในเยอรมนี และเดินทางสู่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปรวมระยะทาง ๑๐,๙๘๗ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ ๑๔ - ๑๕ วัน

3

จุดเริ่มต้นสถานีของนครฉงชิ่ง: สถานี Tuanjie Village Central Station 

รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) ครองอันดับหนึ่งในการให้บริการด้านการขนส่ง  

ตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งสินค้าของขบวนรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีมูลค่าการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๖๖ รถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)มีการเดินรถไฟมากกว่า ๕,๓๐๐ ขบวน และมีปริมาณการขนส่งสินค้ามากกว่า ๔๓๐,๐๐๐ TEU 

เนื่องจากความร่วมมือจากระดับภูมิภาค ทำให้การขนส่งทางรางข้างต้นมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันขบวนรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) เปิดให้บริการถึง ๕๐ เส้นทาง ครอบคลุม ๑๑๐ เมืองในเอเชียและยุโรป โดยสินค้าที่ส่งออกประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์การสื่อสารและเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้าง เสื้อผ้า รองเท้าและหมวก เคมีภัณฑ์ อาหาร ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าอีกกว่า ๒๐,๐๐๐ รายการ ในจำนวนนี้ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ยังคงเป็นสินค้าที่มีปริมาณมากที่สุดในการใช้บริการขนส่ง 

摄图网_401452694_火车货运航拍GIF(企业商用)

ในปัจจุบัน ร้อยละ ๕๐ ของแท็บเล็ตทั่วโลกร้อยละ ๖๐ ของโน้ตบุ๊คทั่วโลก และร้อยละ ๑๐ ของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกผลิตที่นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ในขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดึงดูดบริษัทในเครืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งเข้ามาจัดตั้งโรงงานอยู่บริเวณโดยรอบของทั้ง ๒ เมือง Chengdu International Railway Port (Qingbaijiang)และ Chongqing International Logistics Hub Park ก็ได้รวบรวมองค์กรธุรกิจประเภทต่าง ๆ กว่า ๗,๐๐๐ แห่ง มีมูลค่าสะสมการขนส่งรถยนต์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ชีวเวชศาสตร์และสินค้าอื่น ๆ มากกว่า ๑ ล้านล้านหยวน ทำให้ในปัจจุบันทั้ง ๒ เมืองได้ขยายตลาดไปยังกว่า ๑๐๐ ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

นอกจากนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกทางการค้าของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งที่มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ศุลกากรของทั้งสองเมืองได้ร่วมกันสร้างโครงการสาธิตศูนย์กลางรถไฟจีน-ยุโรปและส่งเสริมความร่วมมือและการเชื่อมต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน โดยเป็นพื้นที่แห่งแรกที่มีการนำโมเดลธุรกิจการผ่านด่านพิธีศุลกากรทั้งขาเข้าและขาออกของรถไฟอย่างรวดเร็วมาใช้ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการพิธีการศุลกากรลงมากกว่า ๒๔ ชั่วโมง ส่งผลให้ ๓ ปี ที่ผ่านมา ด่านศุลกากรทั้งสองเมืองได้ตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออกของรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) กว่า ๘,๒๐๐,๐๐๐ ตัน มีมูลค่ามากกว่า ๓๕๐,๐๐๐ ล้านหยวน 

ศักยภาพของเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง)

จากการเปิดเผย “รายชื่อโครงการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ประจำปี ๒๕๖๖ - ๒๕๖๗” 《强化重庆成都双核联动联建2023—2024年度合作项目事项清单》 นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้มีการกระชับความร่วมมือของรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป  (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) กับคลังสินค้าในต่างประเทศ อาทิ การแบ่งปันการดำเนินงานของคลังสินค้าต่างประเทศในเมืองดูสบูร์ก ประเทศเยอรมนี การส่งเสริมการก่อสร้างร่วมกันของศูนย์การขนส่งและควบคุมที่ Malaszewicze ประเทศโปแลนด์ รวมไปถึงการเสริมสร้างการแบ่งปันบริการและทรัพยากรโลจิสติกส์การค้าต่างประเทศ

ในมุมมองการเปิดประตูสู่โลกกว้าง นครเฉิงตูและนครฉงชิ่งได้มีการขยายเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังทิศใต้ของจีน เพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงระดับการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป และเส้นทางระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ สู่การเปิดตัว การขนส่งแบบผสมผสานทางทะเล-รถไฟแบบข้ามพรมแดน โดยเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ตามแนวเส้นทางและมีการสำรวจ ขยายความสามารถของ “ท่าเรือไร้น้ำ” (无水港หรือ Dry Port) ซึ่งมาตรการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งกับตลาดต่างประเทศให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและความเจริญรุ่งเรืองของการค้าต่างประเทศ

5

รถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) มีความได้เปรียบอย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความตรงต่อเวลา ราคา ความสามารถในการบรรทุก และ ความปลอดภัย รวมไปถึงการได้รับการยอมรับจากลูกค้าอย่างกวางขวางกลายเป็นขนส่งทางเลือกที่ ๓ จากเดิมที่มีการใช้ขนส่งทางทะเล และทางอากาศในการขนส่งจากจีนไปยุโรป ไม่เพียงแต่มีราคาที่ถูกกว่าการขนส่งทางอากาศ อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่สั้นกว่าการขนส่งทางเรือ และจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เส้นทางรถไฟดังกล่าว กลายเป็นการขนส่งอันดับต้น ที่หลาย ๆ องค์กรต่างเลือกใช้ในการขนส่งข้ามประเทศ นอกจากนี้ รถไฟจีน–ยุโรป ยังได้ช่วยขยายตลาดไปยังหลายประเทศในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง ไทย ลาว สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม  

ในขณะเดียวกัน ทางประเทศไทยเองก็ได้รับโอกาสจากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ในภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของรัฐบาลจีน ซึ่งเส้นทางนี้ได้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน-ยุโรป และสินค้าประเทศไทยทั้งหมดสามารถส่งออกไปยังยุโรปและเอเชียกลาง โดยผ่านทางรถไฟสายจีน-ลาว จากนครเฉิงตูหรือนครฉงชิ่ง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ยุโรปโดยไม่มีข้อจำกัดในประเภทสินค้าสู่การผสมผสานอันทรงพลังของ "รถไฟจีน-ลาว + รถไฟจีน-ยุโรป"

ในอนาคต นครฉงชิ่งจะยกระดับบทบาทของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ให้เป็น “รถไฟสายทองคำ” (黄金线หรือ golden line)เสริมสร้างความเริ่มมือระหว่าง ไทย ลาว และประเทศอื่น ๆ ให้มากขึ้น ดำเนินกิจการเส้นรถไฟข้ามพรมแดนจีน-ลาว-ไทยอย่างสม่ำเสมอ ร่วมสำรวจการก่อสร้าง คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนครฉงชิ่งและลาว การหมุนเวียนการค้าและการส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพิ่มบทบาทการสนับสนุนของช่องทางในห่วงโซ่อุปทานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

6

โอกาสและความสำคัญสำหรับธุรกิจไทย

การเชื่อมโยงระบบรถไฟระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไปสู่ตลาดโลกรวมถึงไทย โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง) กับเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และรถไฟจีน-ยุโรป การเชื่อมโยงนี้ไม่เพียงเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็ว แต่ยังช่วยให้สามารถส่งออกสินค้ามายังภูมิภาคจีนตะวันตก ยุโรป และประเทศ  อื่น ๆ ที่เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปพาดผ่าน อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาโอกาสจากเส้นทางเหล่านี้

ในปัจจุบันเส้นทางเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเมื่อปี ๒๕๖๖ รถไฟบรรทุกอะไหล่รถยนต์จากไทยออกจากท่าเรือรถไฟ Chengdu International Railway Port มู่งหน้าสู่ยุโรป เป็นรถไฟขบวนแรกของขบวนรถไฟสายด่วน“ล้านช้าง-แม่โขง-นครเฉิงตู-ยุโรป”(Lancang-Mekong-Chengdu-Europe Line) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อและผสมผสานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างรถไฟรถไฟจีน-ลาว (China-Laos Railway: LCR) และรถไฟจีน-ยุโรป (หรง-โอว) (Chengdu Europe Express Railway) ผ่านเส้นทางกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC)

สินค้าบางส่วนที่บรรทุกโดยรถไฟสายด่วนล้านช้าง-แม่โขง-นครเฉิงตู-ยุโรปได้ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ และเดินทางเข้า มายังประเทศจีนด้วยรถไฟจีน-ลาว เพื่อเชื่อมเข้ากับรถไฟจีน-ยุโรปที่นครเฉิงตู และถูกส่งต่อไปยังเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เดิมทีที่มีการใช้ระบบการขนส่งแบบผสมผสานอย่างทางถนน-ราง-ทะเล ซึ่งใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง การขนส่งผ่านเส้นทางล้านช้าง-แม่โขง-นครเฉิงตู-ยุโรป กลับมีความสามารถที่โดดเด่น นอกจากจะประหยัดเวลาได้มากกว่า ๒๐ วันแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้มากกว่าร้อยละ ๒๐

ตามตารางเวลาเดินรถไฟปัจจุบัน ขบวนรถไฟจะเริ่มเดินทางออกจากทางใต้ของนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยรถไฟจีน-ลาวทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันเสาร์ และเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางในยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวและรถไฟนครเฉิงตู-คุนหมิง

สินค้าที่เดินทางมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยรถไฟจีน-ลาว จะใช้แพลตฟอร์มการตรวจสอบและการดำเนินการแบบบูรณาการ ด้วยวิธีการผ่านพิธีการทางศุลกากรเพียงแค่ครั้งเดียวและไม่จำเป็นต้องเปิดตู้คอนเทนเนอร์อีกจนกว่าจะถึงปลายทาง ทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟโดยตรงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ยุโรปลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าได้เร็วสุดถึง ๑๕ วัน และมีส่วนช่วยในการปรับปรุงระบบขนส่งโลจิสติกส์แบบต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

74

นอกจากนี้ การขนส่งผ่านเส้นทางล้านช้าง-แม่โขง-นครเฉิงตู-ยุโรป ยังมีส่วนช่วยในการขยายเส้นทางการขนส่งไปยังนานาประเทศ มีความรวดเร็วในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผ่านพิธีการศุลกากร การกำหนดเวลา เส้นทางตลอดการเดินทาง มีขอบเขตในการขนส่งที่กว้างขวาง โดยเน้นย้ำถึงความรวดเร็ว ความประหยัด และความมีเสถียรของการขนส่ง ที่ให้บริการครอบคลุมทั้ง ลาว ไทย เมียนมามาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ

การเปิดเส้นทางรถไฟสายด่วน Lancang-Mekong-Chengdu-Europe Line ถือเป็นหนึ่งในการขนส่งที่มีรูปแบบผสมผสานการเชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป นอกจากจะให้บริการโซลูชั่นห่วงโซ่อุปทานแบบ "door-to-door" แล้ว ยังลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้ามากขึ้นไปอีก นับว่าเป็นการเปิดเส้นทางใหม่เพื่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

การสร้างความร่วมมือที่ดีกับคู่ค้าต่างประเทศ จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การเชื่อมโยงทางรางนี้เสริมสร้างมูลค่าทางการค้าและการลงทุนอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียและยุโรป สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม และเศรษฐกิจภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมความพร้อม และปรับตัว เพื่อคว้าประโยชน์และโอกาสจากเส้นทางเหล่านี้ ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองที่มีพรมแดนติดกับนครหลวงเวียงจันทร์ประเทศลาว ย่อมมีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายนี้ได้

การส่งเสริมธุรกิจนำเข้าส่งออก รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce: CBEC) รวมไปถึงโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นในการขนส่งผลิตภัณฑ์เกษตร ผ่านการขนส่งทางราง สามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ทั่วโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การขนส่งข้ามพรมแดนผ่านช่องทางดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ การสร้างรายได้ และลดต้นทุน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยต่อการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ กลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปในอนาคต

8

 

ข้อมูล ณ วันที่ ๒ ก.ค. ๒๕๖๗