ข้อมูลพื้นฐานมหานครฉงชิ่ง

ข้อมูลพื้นฐานมหานครฉงชิ่ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 มิ.ย. 2567

| 28,387 view

ข้อมูลพื้นฐานนครฉงชิ่ง

                           

 

  1. ข้อมูลทั่วไป

      ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และตอนบนของแม่น้ำแยงซี ระหว่างลองติจูดที่ 105º17' - 110º11' ตะวันออกและละติจูดที่ 28º10' - 32º13' เหนือ มีพื้นที่ 82,400 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเป็นพื้นที่สูง ร้อยละ 76 ของภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขา ทางด้านทิศเหนือติดกับมณฑลหูเป่ย ทางด้านทิศตะวันออกติดกับมณฑลหูหนาน ทางทิศใต้ติดกับมณฑลกุ้ยโจว และทางทิศตะวันตกติดกับมณฑลเสฉวน และมณฑลส่านซีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับที่ตั้งของนครฉงชิ่ง จัดเป็นบริเวณสำคัญสำหรับรัฐบาลจีนในการดำเนินแผนการพัฒนาจีนตะวันตก ในการที่จะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตอนกลางและภูมิภาคตะวันตกของประเทศ

     เมื่อปี 2540 นครฉงชิ่งได้แยกออกจากมณฑลเสฉวนและได้รับการยกระดับขึ้นเป็นนครขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง (เป็น 1 ใน 4 นครของจีน ซึ่งประกอบด้วย กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครเทียนจิน) โดยเป็นกรุง/ นครที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อให้นครฉงชิ่งเป็นเมืองหลักในการกระจายความเจริญสู่พื้นที่อื่น ๆ ในภาคตะวันตกของจีน

 

ข้อมูลประชากร มีจำนวนประชากรประมาณ 32.13 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น และประกอบด้วยชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ ชาวถูเจีย แม้ว ฮุย หยี ทิเบต จ้วง เชียง มองโกล ลีซอ แมนจู น่าซี ไป๋ ไต ปูยี ตง อุยกูร์ เกาหลี ฮานิ อี้เหลา และว้า เป็นต้น

 สภาพภูมิอากาศ ลักษณะอากาศเป็นแบบเขตกึ่งร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 6 - 8 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ 27 - 29 องศาเซลเซียส มีปริมาณแสงแดดประมาณ 1,000 - 1,200 ชั่วโมงต่อปี และปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 - 1,400 มม. ต่อปี เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันระหว่างหุบเขาทำให้ลักษณะอากาศเป็นอากาศแบบปิด เมื่อมีการปล่อยควันออกจากโรงงานหรือจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทำให้ควันต่าง ๆ ระบายตัวออกได้ช้า จึงมีลักษณะอากาศเหมือนมีหมอก 

ทรัพยากรสำคัญ มีพืชพันธุ์ธรรมชาติ สัตว์หายาก และสัตว์อนุรักษ์อยู่จำนวนมาก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันเทศ ยาสูบ ชา ถั่วลิสง ธัญพืช และพืชน้ำมัน นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรกว่า 2,000 ชนิด มีแร่ธาตุประมาณ 75 ชนิด แหล่งแร่ Strontium มากที่สุดในจีน และมีแร่แมงกานีสมากเป็นอันดับ 2 ของจีน นอกจากนั้น แหล่งพลังงานหลักที่ใช้ในนครฉงชิ่งคือพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ โดยมีการวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและแผงวงจรควบคุมการทำงานของเมืองที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบการใช้งานและแจ้งเตือนเมื่อระบบการส่งก๊าซเกิดปัญหาขัดข้อง

 

  1. ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง นครฉงชิ่งแบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 38 เขตการปกครองย่อย ประกอบด้วย

  • 26 เขต (district) ได้แก่ เขตหยูจง เขตหยูเป่ย เขตว่านโจว เขตฝูหลิง เขตต้าตู้โข่ว เขตเจียงเป่ยเขตซาผิงปา เขตปาหนาน เขตจิ่วหลงโป เขตหนานอั้น เขตเป่ยเป้ย เขตฉีเจียง เขตหย่งชวน เขตเหลียงผิง เขตต้าจู๋ เขตเฉียนเจียง เขตฉางโซ่ว เขตปี้ซาน เขตเจียงจิน เขตเหอชวน เขตหนานชวน เขตถงเหลียงเขตถงหนาน เขตหรงชาง เขตไคโจว และเขตอู่หลง
  • 8 อำเภอ (county) ได้แก่ อำเภอเฉิงโข่ว อำเภอเฟิงตู อำเภอเตี้ยนเจียง อำเภอจงเสี้ยน อำเภอยูนหยางอำเภอเฟิงเจี่ย อำเภออู่ซาน อำเภออู่ซี
  • 4 เขตปกครองตนเอง (Autonomous county) ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติเหมียวและถู่เจียเผิงสุ่ยเขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียซือจู๋ เขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียซิ่วซาน และเขตปกครองตนเองชนชาติถู่เจียและเหมียวโหย่วหยาง

รายชื่อผู้บริหารฝ่ายการเมืองนครฉงชิ่ง

556  

  袁家军  Mr.Yuan Jiajun นายหยวน เจียจุน

   เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครฉงชิ่ง

 

5999

  胡衡华 Mr. Hu Henghua นายหู เหิงหวา

นายกเทศมนตรี รัฐบาลประชาชนนครฉงชิ่ง

 

5555

  王炯 Mr. Wang Jiong นายหวัง โจ่ง  

ปธ.สภาผู้แทน ปชช. นครฉงชิ่ง

 

685

唐方裕 Mr. Tang Fangyu นายถัง ฟางหยู่

ปธ.สภาที่ปรึกษา นครฉงชิ่ง

 

3.ข้อมูลทางเศรษฐกิจ

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • สินค้าเกษตรกรรมที่สำคัญได้แก่ ข้าวจ้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด มันเทศ ถั่วลิสง รังไหมดิบ ธัญพืช เนื้อหมูน้ำมันพืช และยาสูบ ผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว ส้มโอ พุทราจีน และลูกท้อ เป็นต้น
  • นครฉงชิ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญ 1 ใน 6 ของประเทศมาตั้งแต่อดีตอุตสาหกรรมหลักประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อาวุธ เหล็ก และอะลูมิเนียม นครฉงชิ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์แบรนด์จีน รถยนต์สัญชาติยุโรป และจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน และเป็นฐานการผลิตคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กที่มีปริมาณการผลิต 1 ใน 3 ของโลก
  • มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าฉงชิ่ง - ยุโรป “หยูซินโอว” ขบวนขนส่งปฐมฤกษ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่28 เมษายน 2554 มีสถานีเริ่มต้นจากนครฉงชิ่ง ผ่านประเทศ คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ สิ้นสุดปลายทางที่เมืองดุยส์บูรส์ (สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 11,179 กม. และใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 10 - 12 วัน (ประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางทะเลสู่ยุโรปถึง 25 วัน)  โดยสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ เป็นสินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ อะไหล่ยนต์ และชิ้นส่วนของเครื่องจักร เป็นต้น สำหรับสินค้าที่นำเข้า ได้แก่ สินค้าจำพวกอาหาร นมผง ไวน์ เนื้อวัว และรถยนต์ เป็นต้นปัจจุบัน (ปี 2560) มีการเชื่อมโยงการขนส่งไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาทิ รัสเซีย อุซเบกิสถาน อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน เป็นต้น
  • การพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางหยูซินโอว มีการบูรณาการเชื่อมเส้นทางขนส่งระบบราง+น้ำ“ยุโรป - ฉงชิ่ง - อาเซียน” (ฉงชิ่ง - กว่างซี - สิงคโปร์) และระบบราง+ราง ที่เชื่อมโยงระหว่าง “ยุโรป - ฉงชิ่ง -อาเซียน” (ฉงชิ่ง - กว่างซี - เวียดนาม) เพื่อเพิ่มช่องทางในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ นครฉงชิ่งยังมีแผนการขยายเส้นทางขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ เส้นทางหนานเผิง (ฉงชิ่ง) - รุ่ยลี่ (ยูนนาน) - ย่างกุ้ง (พม่า) รวมทั้งเส้นทาง  หนานเผิง (ฉงชิ่ง) - โม่ฮาน (ยูนนาน) - เวียงจันทน์ (ลาว) - กรุงเทพฯ (ไทย) และเชื่อมโยงไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์
  • นครฉงชิ่ง ได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตทดลองการค้าเสรีแห่งใหม่ในจีน โดยครอบคลุม 3 พื้นที่

เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1 เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง 2. เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซีหย่ง และ 3 ท่าเรือกว่อหยวน

  • นครฉงชิ่ง ได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งเขตปลอดภาษี 3 แห่ง ได้แก่ 1. เขตปลอดภาษีเหลียงลู่ชุ่นทาน 2 เขตปลอดภาษีซีหย่ง และ 3. เขตปลอดภาษีเจียงจิน
  • นครฉงชิ่ง เป็น 1 ใน 35 พื้นที่ทดลองCross Border E - Commerce (CBEC)  หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบครบวงจรในจีน

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ

  • GDP ในปี 2566 GDP ของนครฉงชิ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3,014,579 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา GDP ของปี 2566
  • มูลค่าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมระดับปฐมภูมิ (อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร)มีมูลค่า 207,468 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6) อุตสาหกรรมระดับทุติยภูมิ (อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต) มีมูลค่า 1,169,914 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5) อุตสาหกรรมระดับตติยภูมิ (อาทิ อุตสาหกรรมการบริการ) มีมูลค่า 1,637,197 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9)
  • ยอดค้าปลีกรวมของสินค้าอุปโภคบริโภค 1,510,000 ล้านหยวน (ลดลงร้อยละ 8.6)
  • ทรัพยากรธรรมชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ อาทิ แร่สตรอนเดียม แร่แมงกานีส ถ่านหิน หินอ่อน หินปูน และมีพืชสมุนไพรกว่า 2,000 ชนิด
  • อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และอะไหล่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร อุตสาหกรรมการถลุงและแปรรูปโลหะ
  • รายได้สุทธิส่วนบุคคลของชาวเมือง 47,435 หยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2)
  • รายได้สุทธิส่วนบุคคลของชาวชนบท 20,820 หยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8)
  • การค้ากับต่างประเทศ 713,740 ล้านหยวน (ส่งออก 478,220 ล้านหยวน
    นำเข้า 235,520 ล้านหยวน)
  • มูลค่าการค้ากับอาเซียน 103,860 ล้านหยวน
  • สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติอุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทันสมัย แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แล็ปท็อป
  • สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ แผงวงจรรวม อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับอุปกรณ์อุปกรณ์สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แร่โลหะ แร่เหล็ก แร่กำมะถัน
  • ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง ไต้หวัน RCEP เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย
  • ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา
  • ในปี 2562 บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลก (Fortune 500) ได้เข้ามาลงทุนในนครฉงชิ่งแล้ว 287 ราย

ธุรกิจไทยที่มาลงทุนในนครฉงชิ่ง

  1. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. GROUP) ลงทุนร้านค้าขายปลีก Lotus (3 ร้าน) และโรงงานอาหารสัตว์ 3 โรงงาน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 2 แห่ง
  2. ธนาคารกรุงเทพ ได้เข้ามาลงทุนในนครฉงชิ่งเมื่อกลางปี 2557 นับเป็นสาขาที่ 5 ในจีนต่อจากนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซี่ยเหมิน และนครเซินเจิ้น
  3. บริษัท ECI - METRO ได้ลงทุนเปิดสาขาที่ฉงชิ่ง เมื่อปี 2552

วิสาหกิจนครฉงชิ่งที่มาลงทุนในไทย

  1. บริษัท ลี่ฟานกรุ๊ป จำกัด (Lifan Industry Group) ได้มาลงทุนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทในไทยเมื่อปี 2552 ซึ่งบริษัทฯ ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมไทยจีนจังหวัดระยอง โดยผลิตเครื่องยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมทั้งเครื่องมือการเกษตรในประเทศไทย
  2. บริษัท จงเซินกรุ๊ป (จำกัด) (Zongshen Industry Group) ตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ "ริวก้า" ในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ขณะเดียวกันได้ใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตเพื่อเจาะตลาดภูมิภาคอาเซียน

การคมนาคม

          เมื่อปี 2562 รัฐบาลจีนได้ออก “แผนแม่บทสำหรับเส้นทางการขนส่งทางบกและทางน้ำสำหรับภูมิภาคตะวันตก” ระบุว่า รถไฟ 3 สาย ที่มีเส้นทางจากนครฉงชิ่งและนครเฉิงตู ผ่านไปยังเมืองกุ้ยหยาง ในมณฑลกุ้ยโจวเมืองฮว๋ายฮว่า มณฑลหูหนาน และเมืองไป๋เซ่อ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จนถึงท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเป๋ยไฮ่และท่าเรือฝางเฉิง) จะต้องมีการขนส่งตู้สินค้าทุกวันและเชื่อมต่อเส้นทางร่วมกับรถไฟสายจีน - ยุโรปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรวมกันเป็นช่องทางหลักในการขนส่งทั้งแบบเส้นทางรางและทางน้ำแห่งใหม่ของภูมิภาคตะวันตก

          เขตฝูหลิงเป็นเส้นทางหลักด้านทิศตะวันออกของเส้นทางขนส่งทางรางและทางทะเลแห่งใหม่ในภูมิภาคตะวันตกของจีน ทำให้การพัฒนาด้านค้าระหว่างประเทศในเขตฝูหลิงประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2562 การนำเข้าและส่งออกของเขตการค้าระหว่างประเทศเขตฝูหลิงมีมูลค่าถึง 8,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากปี 2561 ปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกสูงถึง 265,000 ตัน มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ 10,889 ตู้

          ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า “การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเส้นทางรถไฟจากเขตฝูหลิง นครฉงชิ่ง ไปยังท่าเรือชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงนั้น จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และภาคบริการของเขตฝูหลิงให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้” หลังจากเปิดตัวรถไฟขบวนนี้ ทำให้เขตฝูหลิงกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญอีกช่องทางหนึ่งของภูมิภาคตะวันตก การขนส่งระบบรางและทางทะเลของเขตฝูหลิงและพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเริ่มบรรทุกสินค้าที่เขตฝูหลิงและขนส่งไปยังท่าเรือชินโจวได้โดยตรง เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและลดต้นทุนด้านการกักเก็บสินค้า

          ในขั้นต่อไปจะมีการขยายแหล่งรับสินค้าให้มากขึ้น มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเขตฝูหลิงไปยังท่าเรือชินโจวเป็นประจำ โดยจะมีการขนส่ง 1 เที่ยว/ สัปดาห์ ในขั้นต้น และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เที่ยว/สัปดาห์ ในขั้นต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการและความสามารถของแหล่งผลิตสินค้าด้วย

การคมนาคมทางด้านอากาศ

          จากรายงานการบินพลเรือนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดทำให้อุตสาหกรรมการบินของจีนชะลอตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มฟื้นฟูการดำเนินงานใหม่อีกครั้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยในเดือนพฤษภาคมปริมาณการบินของเส้นทางในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกเฉลี่ยสูงสุดถึง 21,732 เที่ยว/วัน เฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐฯ กว่าร้อยละ 35 ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนั้นอัตราการลำเลียงผู้โดยสารภายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการใช้งานเฉลี่ย 4.35 ชั่วโมง/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.55 จากเดือนเมษายน แต่อัตราการลำเลียงผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมีอัตราเพียงร้อยละ 20.3 เท่านั้น

          ภายใต้สถานการณ์ที่ได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 สนามบินทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบในระดับที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด - 19 ของรัฐบาลจีนที่สามารถดำเนินการได้ดี ทำให้ธุรกิจการบินกลับมาเริ่มดำเนินการได้ตามปกติ สนามบินนานาชาติฉงชิ่ง             เจียงเป่ย (CKG) ในนครฉงชิ่ง ได้ฟื้นตัวกว่าร้อยละ 77 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา  

          ปัจจุบัน นครฉงชิ่งได้มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร T3B และโครงการรันเวย์แห่งที่ 4 คาดว่าโครงการจะเสร็จสิ้นในปี 2567 สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 80 ล้านคน/ ปี ปริมาณการขนส่งสินค้า 1.2 ล้านตัน/ ปี และปริมาณการบินขึ้นและลงของเครื่องบิน 580,000 เที่ยว คาดว่าจะช่วยส่งเสริมการสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง และผลักดันให้นครฉงชิ่งกลายเป็นผู้นำในการเปิดกว้างของภูมิภาคตะวันตก

เมืองสำคัญและเขตเศรษฐกิจของนครฉงชิ่ง

  1. รัฐบาลนครฉงชิ่งแบ่งพื้นที่นครออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ

          One-hour Economic Circle: (พื้นที่รอบใน) คือพื้นที่ที่ใช้เวลาเดินทางจากใจกลางเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเขตที่รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอุตสาหกรรม บริการ และการสร้าง Industrial Cluster เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับส่งจำหน่ายภายในประเทศ

          Wings: ประกอบด้วย

          พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือตามเส้นทางเขื่อนสามโตรก (ซานเสี่ย) โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร การท่องเที่ยว และป่าไม้

          พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ 6 เขตการปกครองตนเอง เป็นเขตพื้นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อย โดยเน้นทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism)

  1. เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง เดือนเมษายน 2561 รัฐบาลได้อนุมัติใช้แผนการพัฒนาเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง จากนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้รายงานและแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญในการสร้างเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง แก่รัฐบาลจีน ในเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจีนได้ส่งผู้แทนมาสำรวจและวิจัยพื้นที่ในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง และในวันที่ 3 มกราคม 2563 ในการประชุมของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินจีน ครั้งที่ 6 ได้มีการลงนามจัดตั้งเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง

        การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีการบริหารแบบสองศูนย์ เพื่อพัฒนาเป็น (1) ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สร้างศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในระดับมณฑล ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สร้างศูนย์อุปโภคบริโภคระดับนานาชาติ และสร้างฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจดิจิทัล และ (2) ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลระดับประเทศ สร้างเมืองวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกที่นครเฉิงตู และสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ระดับประเทศที่เมืองเหมียนหยาง นอกจากนั้น เขตวงกลมเศรษฐกิจดังกล่าว จะผลักดันการพัฒนาการเปิดสู่ภายนอก สร้างเขตสาธิตด้านนวัตกรรม เขตลงทุนการค้าระดับนานาชาติสำหรับภูมิภาคตะวันตก และสร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน และทัศนียภาพของเมืองที่งดงามด้วย

  1. เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง (Liangjiang New Area): ก่อตั้งปี 2554 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,200 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่แห่งแรกที่อยู่ในดินแดนจีนตอนใน และเป็นเขตเศรษฐกิจแหล่งใหม่แห่งที่ 3 ของจีน ตั้งอยู่ในเขตเมืองที่มีการปกครองขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางต่อจาก “เขตเศรษฐกิจใหม่ผู่ตง” ในนครเซี่ยงไฮ้ และ “เขตเศรษฐกิจใหม่ปินไห่” ในนครเทียนจิน

ความสัมพันธ์ไทย-ฉงชิ่ง

- การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง

               ฉงชิ่ง - ไทย เสริมสร้างความร่วมมือทางทวิภาคี ยกระดับความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2554 สำนักข่าวจงซิน นครฉงชิ่ง รายงานว่า  คณะกรรมาธิการนครฉงชิ่งได้เข้าร่วมประชุมในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับไทย ครั้งที่ 3

          นายจู ซีเหยียน ผู้อำนวยการสำนักงานต่างประเทศของรัฐบาลนครฉงชิ่งกล่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรของจีนและเป็นสมาชิกที่สำคัญของอาเซียน นับตั้งแต่การเปิดตัวเต็มรูปแบบของเขตการค้าเสรีอาเซียนฉงชิ่งก็ได้ร่วมมือกับไทยในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจการค้า วัฒนธรรม การศึกษาและการท่องเที่ยว เป็นต้น

          เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 นายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย ในการร่วมมือเพื่อยกระดับความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง  แสวงหาโอกาสในการลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน

          ปัจจุบันในกลุ่มเครือโภคภัณฑ์ไทยได้จัดตั้งซุปเปอร์มาเก็ตโลตัส 10 แห่งในนครฉงชิ่ง ทั้งนี้ นครฉงชิ่งยังได้ลงนามข้อตกลงที่จะจัดตั้งเที่ยวบินตรงระหว่างฉงชิ่ง - กรุงเทพฯ และได้มีการลงทุนเขตสินค้าเกษตรแปรรูป และโลจิสติกส์อาซียนในพื้นที่ใหม่ในนครฉงชิ่ง

- ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนกับไทย

  • การค้ากับไทย การค้าระหว่างไทย-ฉงชิ่งมีมูลค่ารวม 18,503.45 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 12.4 โดยการส่งออกมีมูลค่า 7,109.73 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และการนำเข้า 11,393.72 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 20.4

- ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

          ปี 2562 นครฉงชิ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 2 ของภาคตะวันตกประเทศจีนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปไทยมากที่สุด

          สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มีการส่งเสริมคุณภาพการท่องเที่ยวและเปิดตัวผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งนี้ นครฉงชิ่งยังได้มีการจัดกิจกรรม มหัศจรรย์เมืองไทย เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

       ปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนได้เดินทางไปยังประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ต่อปี  โดยนครฉงชิ่งติดเป็นอันดับ 2 ของภาคตะวันตกประเทศจีนที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปไทยมากที่สุด จำนวน 500, 000 คน ลดลงร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ตและ             เกาะเสม็ด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของนักท่องเที่ยวจีน (ฉงชิ่ง)

       โครงการมหัศจรรย์เมืองไทยได้ดำเนินอยู่ในประเทศจีนมาเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี และการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างไทย - ฉงชิ่งอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ จะยังคงร่วมมือกับสื่อและอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวของไทยและส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไป

 

- ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา

          - มหาวิทยาลัยซีหนาน นครฉงชิ่งได้มีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจุบันนี้ มีนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยซีหนานจำนวน 600 คน

          มหาวิทยาลัยซีหนาน นครฉงชิ่งและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทยได้จัดตั้งสถาบันขงจื้อร่วมกัน โดยสถาบันขงจื้อถือเป็นหนึ่งในสิบสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้ง ยังได้มีการจัดตั้งห้องเรียนขงจื้อร่วมกับโรงเรียนมัธยมกั๋วกวงหาดใหญ่  ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

          มหาวิทยาลัยซีหนาน นครฉงชิ่งได้มีการทำความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และ                บุคลากรทางการศึกษา (NIDTEP) ในด้านต่าง ๆ อาทิ การยื่นขอทุนการศึกษาในโครงการเส้นทางสายไหมการฝึกอบรมผู้บริหารการศึกษาและเจ้าหน้าที่ทางการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ได้มีการจัดอบรมในโครงการฝึกอบรมด้านบุคลากรทางการศึกษาร่วมกันมาแล้ว 3 ครั้ง และถือเป็นโครงการระดับสูงที่ช่วยยกระดับแวดวงทางการศึกษาไทย - จีน

- มหาวิทยาลัย Sichuan International Studies University (SISU) ได้ก่อตั้งภาควิชาภาษาไทยเมื่อปี 2559 ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในนครฉงชิ่งที่มีภาควิชานี้ ปัจจุบัน SISU มีนักศึกษาจีนที่เรียนวิชาเอกภาษาไทย (รวม 4 ชั้นปี) 94 คน

- ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง/เมืองมิตรภาพระหว่างเมืองในมณฑลฉงชิ่งกับจังหวัดต่างๆ ของไทย

ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองต่าง ๆ ของมณฑลฉงชิ่งกับจังหวัดต่าง ๆ ของไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาก

เมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับฉงชิ่งที่มีการสถาปนาแล้วมี 2 คู่ ได้แก่ (1) กรุงเทพฯ  - นครฉงชิ่ง และ  (2) จ.เชียงใหม่ - นครฉงชิ่ง    

โอกาศความร่วมมือกับประเทศไทย

          - ปัจจุบัน นครฉงชิ่งต้องการผลักดันการพัฒนาร่วมกับข้อริเริ่มแถบและเส้นทางและเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้การค้าข้ามพรมแดน สร้างช่องทางการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อผลักดันให้เกิดการไหลเวียนของผู้คน เงินทุน และสินค้า พร้อมกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ เป็นสะพานเชื่อมการขนส่งไปยังอาเซียนและยุโรป และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

          - นครฉงชิ่งกำลังเร่งการสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง แสวงมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมการเกษตร วิชาชีพทางการแพทย์ เพื่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้มีความสามารถพิเศษในด้านดังกล่าว สนับสนุนและสร้างมาตรฐานการศึกษาร่วมกับสถาบันฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากการศึกษาออนไลน์เพื่อขยายวงกว้างด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ นอกจากนั้น จะเพิ่มขีดความสามารถและสัดส่วนด้านการศึกษาสายอาชีพและเทคนิค พร้อมสร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานฝึกงานทั้งในและต่างประเทศ
         

การจัดตั้งหอการค้า

          ไม่มีการจัดตั้งสภาหอการค้า หรือสมาคมธุรกิจไทยในนครฉงชิ่ง

 

ชุมชนไทย

          สมาคมนักเรียนไทย ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (泰国驻重庆留学生联合会/ Thai Student Association in Chongqing) ซึ่งมีสมาชิกจำนวนกว่า 500 คน เพื่อเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาไทย ที่มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยฉงชิ่ง เป็นหน่วยงานการประสานงานและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่นักเรียน/นักศึกษาไทย เปิดโอกาสให้นักเรียน/นักศึกษาไทยได้จัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ได้อย่างมีศักยภาพ
ช่องทางการติดต่อ อีเมล : [email protected]
Facebook: https://www.facebook.com/สมาคมนักศึกษาไทย-ณ-มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง-173587665375/ และที่อยู่ : ห้องไทยศึกษา คณะนานาชาติ มหาวิทยาลัยซีหนาน /International college of South west university Tiansheng2nd Rd., Beibei District, Chongqing, PR.China 400175

***************

สถานะข้อมูลวันที่ 10 มิถุนายน 2567