ข้อมูลพื้นฐานมณฑลเสฉวน

ข้อมูลพื้นฐานมณฑลเสฉวน

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 40,892 view

ข้อมูลพื้นฐานมณฑลเสฉวน

 

成都地图_1

แผนที่มณฑลเสฉวน

 

 

ข้อมูลพื้นฐานมณฑลเสฉวน

  1. ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง / ขนาดพื้นที่ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ระหว่างลองติจูดตะวันออกที่ 97º21' – 110º21' และละติจูดเหนือที่ 26º03'  – 34º19' มีพื้นที่ทั้งสิ้น 485,000 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของจีน) คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของพื้นที่ประเทศจีน ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสูงและภูเขาสูงทางตะวันตกของมณฑล มีความสูงเฉลี่ย 4,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มและเนินเขามีความสูงประมาณ 1,000 – 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ติดกับมณฑลหูเป่ย มณฑลหูหนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลยูนนาน เขตปกครองตนเองทิเบต มณฑลชิงไห่ มณฑลส่านซีและมณฑลกานซู เสฉวนเป็นมณฑลที่ไม่มีทางออกทะเล (land locked) มีนครเฉิงตูเป็นเมืองเอกของมณฑล

ข้อมูลประชากร มณฑลเสฉวนมีประชากร 83.75 ล้านคน ประชากรประกอบด้วยชนชาติหลักจำนวน 15 ชนชาติ ได้แก่ ชาวฮั่น หยี ทิเบต เย้า เฉียง ฮุย มองโกล ลีซอ แมนจู น่าซี ไป๋ ไต ปูยี แม้ว และถูเจีย โดยมีชาวฮั่นเป็นประชากรส่วนใหญ่

สภาพภูมิอากาศ ลักษณะอากาศในพื้นที่ทางด้านตะวันออกเป็นแบบเขตกึ่งร้อนชื้น ความชื้นและปริมาณ น้ำฝนสูง ในฤดูร้อนอากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 29º เซลเซียส และในฤดูหนาว อุณหภูมิประมาณ 3º – 6º เซลเซียส ในด้านตะวันตกของมณฑล ซึ่งเป็นที่สูงมีลักษณะอากาศเป็นแบบที่ราบสูง ความชื้นและปริมาณน้ำฝนต่ำ อากาศเย็นในฤดูหนาว

ทรัพยากรสำคัญ มณฑลเสฉวนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจีน เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของจีนมาตั้งแต่อดีต สินค้าหลักประกอบด้วยข้าว ข้าวเจ้า ข้าวฟ่าง ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำตาล มันฝรั่ง โดยเป็นมณฑลหลักที่ผลิตสินค้าบริโภคของประเทศ มีแร่ธาตุประมาณ 132 ชนิด มีไททาเนียมมากที่สุดในโลก และแร่วาเนเดียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

แหล่งพลังงาน มีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำรวจพบแล้วกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่ามีปริมาณสำรองการใช้ได้ถึง 100 ปี อาทิ แหล่งก๊าซธรรมชาติผู่กวง เมืองต๋าโจว พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในมณฑลมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ โดยมณฑลเสฉวนถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 100 ล้านกิโลวัตต์ และมีปริมาณสำรองพลังน้ำ 150 ล้านกิโลวัตต์ สูงเป็นอันดับ 2 ของจีนรองจากทิเบต

 

2.ข้อมูลด้านการปกครอง

การแบ่งพื้นที่เขตปกครอง มณฑลเสฉวนแบ่งส่วนการปกครองออกเป็น 18 เมือง และ 3 เขตปกครองตนเอง ประกอบด้วย

18 เมือง ได้แก่ นครเฉิงตู (Chengdu/ 成都) เมืองเหมียนหยาง (Mianyang/ 绵阳) เมืองเต๋อหยาง (Deyang/ 德阳) เมืองอี๋ปิน (Yibin/ 宜宾) เมืองพานจือฮัว (Panzhihua/ 攀枝花) เมืองเล่อซาน (Leshan/ 乐山) เมืองหนานชง (Nanchong/ 南充) เมืองจื้อกง (Zigong/自贡) เมืองหลูโจว (Luzhou/ 泸州) เมืองเน่ยเจียง (Neijiang (内江) เมืองกว่างหยวน (Guangyuan/ 广元) เมืองซุ่ยหนิง (Shuining/ 遂宁) เมืองจือหยาง (Ziyang/ 资阳) เมืองกว่างอัน (Guang'an/ 广安) เมืองหย่าอัน (Ya'an/ 雅安) เมืองเหมยซาน (Meishan/ 眉山) เมืองต๋าโจว (Dazhou/ 达州) และเมืองปาจง (Bazhong/ 巴中) 

3 เขตปกครองตนเอง ได้แก่ เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตเชียงอาป้า (Aba Tibetan Qiang Autonomous Prefecture/ 阿坝藏族羌族自治州) เขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตกานจือ (Ganzi Tibetan Autonomous Prefecture/甘孜藏族自治州) และเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน (Liangshan Yi Autonomous Prefecture/ 凉山彝族自治州)

 

รายชื่อผู้บริหารฝ่ายการเมืองมณฑลเสฉวน

成都_1

นายเผิง ชิงหัว (Mr.Peng Qinghua-彭清华)

ตำแหน่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเสฉวน 

และประธานสภาผู้แทนประชาชนมณฑลเสฉวน

 

成都_2黄强

นายหวง เฉียง (Dr.Huang Qiang – 黄强)   

ตำแหน่ง รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเสฉวน

และคาดว่าจะได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลเสฉวน

 

成都_3柯尊平

นาย เคอ จุนผิง (Mr.Ke Zunping - 柯尊平) 

ตำแหน่ง ประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนมณฑลเสฉวน

 

3.ข้อมูลทางเศรษฐกิจ

ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจ

  • มณฑลเสฉวนโดยเฉพาะนครเฉิงตู เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญที่สุดของภาคตะวันตกของจีน มีประชากรประมาณ 83.04 ล้านคน (ในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในนครเฉิงตูซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลประมาณ 14 ล้านคน) มณฑลนี้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในจีน
  • ตั้งแต่ปี 2543 รัฐบาลกลางได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน ให้มีความเจริญเพื่อลดปัญหาช่องว่างของการพัฒนาเมืองเมื่อเทียบกับมณฑลชายฝั่งภาคตะวันออก โดยกำหนดให้มณฑลเสฉวนเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันตกทั้ง 12 มณฑล
  • ปี 2550 รัฐบาลมณฑลเสฉวนวางแผนให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรมและการให้บริการทางการแพทย์
  • เป็นศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ และมีศูนย์ส่งดาวเทียมที่เมืองซีชาง (Xichang Satellite Launch Center: XSLC) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 รัฐบาลจีนส่งดาวเทียมฉางเอ๋อ 1 (Chang’e 1) ขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ โดยเป็นการสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของจีน และได้ส่งดาวเทียมสื่อสารความเร็วสูง APStar - 6D ดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์เข้าสู่วงโคจรที่กำหนดด้วยจรวดขนส่ง Long March -3B ในวันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 20.11 น. ที่ศูนย์ปล่อยจรวดส่งดาวเทียมซีชาง มณฑลเสฉวน
  • กระตุ้นให้เมืองเฉิงตูพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลังและสร้างความเป็นผู้นำด้านธุรกิจในภูมิภาค (Leading Enterprise) โดยจัดตั้งและเพิ่มศักยภาพสถาบันวิจัยและพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  • สร้างมาตรการในการเชิญชวนและสนับสนุนนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่ให้มากขึ้น อีกทั้งสร้างโอกาสให้ธุรกิจในพื้นที่ในการทำ Business Matching กับธุรกิจนอกพื้นที่ และบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างหลักประกันความเสี่ยงให้แก่ภาคธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู - ยุโรป ที่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2556 มีจุดเริ่มต้นจากสถานีชิงไป๋เจียงนครเฉิงตู มุ่งหน้าสู่เมืองอาลาซานโข่ว มณฑลซินเจียง จากนั้นเดินทางผ่านประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส และสิ้นสุดที่สถานีปลายทางเมืองลอดซ์ ประเทศโปแลนด์ รวมระยะทางทั้งสิ้น 9,826 กม.ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 - 12 วัน โดยสินค้าที่ขนส่งเส้นทางเฉิงตู - ยุโรป (เที่ยวไป) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกอิเล็คทรอนิกส์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และเสื้อผ้า สำหรับสินค้าขนส่งเส้นทางยุโรป - เฉิงตู (เที่ยวกลับ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกเครื่องใช้ประจำวัน อาหาร ไวน์ เนื้อวัว และรถยนต์
  • ปัจจุบัน ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเฉิงตู – ยุโรป เชื่อมต่อกับเมืองภายในประเทศจีน 14 เมือง อาทิ หนานหนิง เซี่ยเหมิน หนิงโป และเชื่อมต่อกับเมืองในต่างประเทศมากถึง 16 เมือง อาทิ เฉิงตู-ลอดซ์ (โปแลนด์) เฉิงตู – นูเรมเบิร์ก (เยอรมนี) เฉิงตู – ทิลบูรก์ (เนเธอร์แลนด์) เฉิงตู – อิสตันบูล (ตุรกี)  เฉิงตู – มอสโก (รัสเซีย) เฉิงตู – เก็นต์ (เบลเยี่ยม) เฉิงตู – มิลาน (อิตาลี)  นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้มีการขยายเส้นทางการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเส้นทาง “หรงโอว+” ที่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน เป็นการบูรณาการระบบการขนส่งทางราง + ราง และราง + น้ำ       (เฉิงตู – กว่างซี – อาเซียน – ตะวันออกกลาง)
  • เส้นทางตอนใต้ : นครเฉิงตู – นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ออกจากท่าการรถไฟนานาชาติเฉิงตู ผ่านท่าเรือคอร์โกสซินเจียง คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ฯลฯ จนมาถึง เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีด้วยระยะทางประมาณ 13,000 กิโลเมตร ครอบคลุมถึงเอเชียกลาง  เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ และตอนใต้ของยุโรปใช้เวลา 13 – 15 วัน
  • เส้นทางตอนกลาง: นครเฉิงตู – เมืองลอดซ์ ประเทศโปแลนด์ ระยะทาง 9,826 กิโลเมตรใช้เวลา 10 – 12 วัน นอกจากนี้ ยังมีการขยายเส้นทางไปยังเมืองคูทโน ประเทศโปแลนด์ เมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมืองทิลเบิร์กประเทศเนเธอร์แลนด์ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ฯลฯ
  • เส้นทางตอนเหนือ : นครเฉิงตู – กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ออกเดินทางจากเขตชิงไป๋เจียง นครเฉิงตู ผ่านอาลาซานโข่ว คาซัคสถาน ไปยังรัสเซีย และเดินทางเข้าสู่สถานีปลายทางโรงงาน Geely Factory (อุตสาหกรรมยานยนต์) ตั้งอยู่ที่เมือง Minsk ประเทศเบลารุส โดยมีระยะทางประมาณ 8,866 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 12 วัน
  • นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางขนส่งทางบก R3A หากเชื่อมต่อมายังนครเฉิงตูจะเรียกว่าเส้นทาง R3A Plus โดยเริ่มจากนครเฉิงตู   นครคุนหมิง ผ่านประเทศลาว และลงไปสู่ภาคเหนือของไทย ซึ่งการขนส่งสินค้าจากนครเฉิงตูไปยังประเทศไทยใช้เวลาเพียง      3 – 4 วันเท่านั้น
  • มณฑลเสฉวนได้มีการอนุมัติเขตปลอดภาษีรวมทั้งสิ้น 6 แห่ง ได้แก่ (1) เขตปลอดภาษีสถานีขนส่งทางราง (2) เขตปลอดภาษีหลูโจว (3) เขตปลอดภาษีอี๋ปิน โดยเขตปลอดภาษีดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการภายในสิ้นปี 2563 นอกจากนั้น เขตปลอดภาษีเหมียนหยางที่ได้รับการอนุมัติก่อนหน้านี้จะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2563 ทำให้เขตปลอดภาษีในมณฑลเสฉวนมีจำนวนรวม 6 แห่ง แบ่งเป็นเขตปลอดภาษีเดิม 2 แห่ง ได้แก่ (1) เขตปลอดภาษีเฉิงตูไฮเทคโซน (2) เขตปลอดภาษีซีหยวนไฮเทคโซน และเขตปลอดภาษีแห่งใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ (1) เขตปลอดภาษีสถานีขนส่งทางราง (2) เขตปลอดภาษีหลูโจว        (3) เขตปลอดภาษีอี๋ปิน และ (4) เขตปลอดภาษีเหมียนหยาง
  • รัฐบาลกลางจีนอนุมัติให้นครเฉิงตูเป็นเมืองนำร่องตามยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” เพื่อเป็นศูนย์กลางของจีนตะวันตกในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะการผลิตในระดับไฮเอนด์
  • นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางจีนให้เป็น “พื้นที่ทดลอง CBEC แบบครบวงจร” เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 (Cross Border E-Commerce (CBEC) หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน) แบ่งออกได้เป็น 5 เขต ได้แก่ 1) เขต CBEC ปลอดภาษีซวงหลิว 2) เขต CBEC สนามบินซวงหลิว 3) เขต CBEC ไปรษณีย์ด่วนพิเศษเสฉวน (ทั้ง 3 เขตข้างต้นตั้งอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีซวงหลิว นครเฉิงตู) 4) เขต CBEC ชิงไป๋เจียง และ 5) เขต CBEC คลังสินค้ารองเท้าสตรี

ตัวเลขทางเศรษฐกิจ

  • ในสามไตรมาสแรกปี 2563 มณฑลเสฉวนมี GDP มูลค่า 3,490,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
  • มูลค่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมปฐมภูมิ (อุตสาหกรรมการผลิตด้านเกษตรกรรม) มีมูลค่าเพิ่มกว่า 430,180 ล้านหยวน หรือร้อยละ 3 อุตสาหกรรมทุติยภูมิ (อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป) มีมูลค่าเพิ่มกว่า 1,244,620 ล้านหยวน หรือร้อยละ 2.3 และอุตสาหกรรมตติยภูมิ (อุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่หรือการพาณิชย์) มีมูลค่าเพิ่ม 1,815,700 ล้านหยวน หรือร้อยละ 2.2
  • การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในช่วงสามไตรมาสแรก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 ร้อยละ 9.2 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ) โดยเป็นการลงทุนด้านการคมนาคมถึงร้อยละ 9.7
  • มูลค่าการค้ากับต่างประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 การนำเข้าและส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เริ่มกลับมาลงทุนมากขึ้น โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 มีการนำเข้าและส่งออกสินค้ารวมกว่า 591,670 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 แบ่งเป็นการส่งออก มีมูลค่า 337,460 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 และการนำเข้า มีมูลค่า 254,210 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2
  • อัตราการเติบโตของการค้ากับสหภาพยุโรป อาเซียนและคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 การการค้าของมณฑลเสฉวนกับอาเซียนมีจำนวน 228,240 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ17.3) การค้ากับสหรัฐฯ มีมูลค่า 44,210 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9) และการค้าสหภาพยุโรปมีจำนวน 42,850 ล้านหยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9)
  • ดัชนีผู้บริโภค (CPI) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 CPI ของผู้บริโภคในมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 โดยภาคการบริโภคอาหารและยาสูบเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ภาคราคาอาหารมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ส่งผลต่อดัชนีทั้งหมดถึงร้อยละ 4.1 ภาคการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ภาคการคมนาคมลดลงร้อยละ 3.6
  • สำหรับรายได้ภาคประชาชนของมณฑลเสฉวนในช่วงสามไตรมาสแรกของ ปี 2563 มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยรายได้เฉลี่ยของผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองอยู่ที่ 19,606 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และรายได้เฉลี่ยของชาวชนบทอยู่ที่ 4,362 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1    
  • คู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
  • การลงนามความร่วมมือในโครงการการลงทุนกับต่างประเทศกว่า 1,700 โครงการ เงินทุนรวม 2.7 ล้านล้านหยวน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น
  • สินค้าส่งออกที่สำคัญของมณฑลเสฉวน ได้แก่ อุปกรณ์ประมวลผลอัตโนมัติ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้า สินค้านำเข้าที่สำคัญของมณฑลเสฉวน ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องบิน อุปกรณ์ การสื่อสารและ Printed Circuits
  • ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลก (Fortune 500) ในมณฑลเสฉวน มีทั้งสิ้น 364บริษัท โดยมีรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวรวมกว่า 2.6 ล้านล้านหยวน (ข้อมูลจากกรมสถิติมณฑลเสฉวน sc.gov.cn)
  1. การคมนาคม

     มณฑลเสฉวนตั้งเป้าการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมแบบครบวงจรแห่งภาคตะวันตกภายในปี 2563 ซึ่งรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 1 ล้านล้านหยวน เพื่อเร่งพัฒนาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ระบบราง ทางหลวงมอเตอร์เวย์ ท่าเรือดินแดนตอนใน สนามบินนานาชาติ และระบบอินเทอร์เน็ตสารสนเทศ โดยมีนครเฉิงตูเป็นศูนย์กลางจุดเชื่อมโยงที่สำคัญไปสู่ศูนย์กลางเมืองในระดับภูมิภาค โดยโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเทียนฝู่ ถือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 และเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2559 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2563 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในครึ่งแรกของปี 2564 นอกจากนั้นได้มีการเร่งลงทุนในโครงการขนส่งทางรถไฟมูลค่ากว่า 10,000 ล้านหยวน ในการก่อสร้างรถไฟใต้ดินหลายสาย ได้แก่ สาย 6 สาย 10 และสาย 13  เส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 18 สาย 19 และสาย 20 โดยเส้นทางรถไฟใต้ดินสาย 18 ถือเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปยังสนามบินแห่งใหม่ ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างใจกลางนครเฉิงตูและท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ด้วย มีระยะทางกว่า 66.71 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งสิ้น 12 แห่ง โดยเริ่มต้นจากสถานีรถไฟเฉิงตูใต้ ผ่านเขตไฮเทคโซน เขตใหม่เทียนฝู่ ภูเขาหลงฉวน และเข้าสู่สถานีปลายทางคือท่าอากาศยานนานาชาติเฉิงตู เทียนฝู่ ถือเป็นรถไฟใต้ดินที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงสถานที่สำคัญของเมือง ผ่านการให้บริการด้วยความเร็วกว่า 140 กิโลเมตร/ ชั่วโมง

     4.1 โครงข่ายทางหลวง ในปี 2560 มณฑลเสฉวนมีเส้นทางด่วนระยะทางยาวประมาณ 6,820 กม. มีความยาวเป็นอันดับหนึ่งของจีนตะวันตกและเป็นอันดับที่สามของจีนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมมณฑลเสฉวนออกสู่มณฑลและเมืองสำคัญอื่น ๆ ในปี 2562 มณฑลเสฉวนสร้างทางหลวงใหม่ 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,000 กิโลเมตร รวมถึงการขยายเส้นทางจาก เหมียนหยาง - ชางซี ชางซี - ปาจง หมาเอ่อคัง - จิ่วจื้อ หลูติ้ง – ฉือเหมียน หนานชง - ถงหนาน หนานชงตอนเหนือ หลานจง - หยิงซาน ซีชาง - จาวธง เต๋อหยาง - สุ่ยหนิง และภายในปี 2563 รัฐบาลตั้งเป้าสร้างทางด่วนเพิ่มให้ได้ระยะทาง 8,200 กม. ซึ่งจะทำให้การเดินทางไปเมืองเอกของมณฑลต่าง ๆ ทั่วจีนสามารถไปถึงได้ภายใน 22 ชั่วโมง

     4.2 โครงข่ายรางรถไฟ ในเดือนกันยายนปี 2562 มณฑลเสฉวนมีเส้นทางรถไฟรวมทั้งสิ้นเป็นระยะ 5,090 กม. ซึ่งมณฑลเสฉวนตั้งเป้าสร้างเส้นทางรถไฟให้ได้ระยะทางยาว 8,000 กม.เชื่อมออกสู่มณฑลต่าง ๆ ในจีนทั้งสิ้น 18 เส้นทางภายในปี 2563 นอกจากนี้ การเดินทางสู่เมืองสำคัญในมณฑลอื่นทั่วประเทศจะเป็นไปตามแผน “วงแหวนคมนาคมระบบราง 1,2,4,8 ชม.”

     แผน “วงแหวนคมนาคมระบบราง 1,2,4,8 ชม.” จะทำให้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากนครเฉิงตูถึงหัวเมืองชั้นรอง ได้แก่ (1) เมืองเหมียนหยาง เมืองเล่อซาน เมืองเน่ยเจียงได้ภายในระยะเวลา 30 นาที (2) จากนครเฉิงตูถึงเมืองกว่างหยวน เมืองอี๋ปิน เมืองหย่าอัน และนครฉงชิ่งภายในระยะเวลา 1 ชม. (3) จากนครเฉิงตูถึงเมืองคังติ้ง เมืองซีชาง นครซีอาน มณฑลส่านซี นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจวภายในระยะเวลา  2 ชม. (4) จากนครเฉิงตูถึงนครหลานโจว มณฑลกานซู่ นครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย นครฉางซา มณฑลหูหนาน นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ภายในระยะเวลา 4 ชม. (5) จากนครเฉิงตูถึงนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ภายในระยะเวลา 6 ชม. และ (6) จากนครเฉิงตูถึงกรุงปักกิ่ง นครเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง มหานครเซี่ยงไฮ้ ภายในระยะเวลา 8 ชม. นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเฉิงตู – ซีอานอย่างเป็นทางการแล้ว

     นอกจากนี้ จะเปิดเส้นทางระบบรางเชื่อมโยงสู่ประเทศในตะวันออกกลางและทวีปยุโรป และเชื่อมโยงระบบรางสู่อาเซียน ในปี 2563 ทางรถไฟในมณฑลเสฉวนที่สามารถใช้ความเร็ว 160 กม./ ชม. ขึ้นไปจะมีระยะทางยาวทั้งสิ้น 4,900 กม. ความเร็ว 200  กม./ชม. ขึ้นไป จะมีระยะทางยาวทั้งสิ้น 3,200 กม. และ ความเร็ว 300 กม./ ชม. ขึ้นไป จะมีระยะทางยาวทั้งสิ้น 900 กม.นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเฉิงหลาน (เฉิงตู – หลานโจว) คาดมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563 
            ได้มีการขยายเส้นทางการขนส่งทั้งสี่ทิศในปี 2563 ดังนี้ (1) ทิศตะวันตก เปิดสามเส้นทางหลักและขยายเส้นทางรถไฟในภูมิภาคยุโรป (2) ทิศเหนือ มุ่งเน้นไปที่การขนส่งผลิตภัณฑ์ไม้ระหว่างประเทศ (3) ทิศตะวันออก มุ่งเปิดเส้นทางรถไฟตามแนวแม่น้ำแยงซี  เชื่อมต่อกับท่าเรือชายฝั่ง เพื่อเป็นการผสมผสานระหว่างเส้นทางรถไฟและทางน้ำไปยังประเทศต่าง ๆ (4) ทิศใต้ เปิดเส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างระบบรางและทางทะเลร่วมกัน โดยกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ผ่านท่าเรือชินโจว  ที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

      4.3 การคมนาคมทางน้ำ มณฑลเสฉวนได้อาศัยแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นเส้นทางการขนส่งหลักออกสู่ทะเลทางตะวันออกที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ซึ่งระยะทางการขนส่งทางน้ำมี 12,000 กม. แต่ใช้เป็นเส้นทางการขนส่งได้จริงเพียง 200 กว่า กม. ทั้งนี้ มณฑลเสฉวนมีท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่

  • ท่าเรืออี๋ปิน มีศักยภาพด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อกระจายสินค้าออกสู่ทะเลไปยังสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีเครือข่ายถนนและทางรถไฟที่เชื่อมสู่เมืองสำคัญต่าง ๆ โดยใช้เวลาประมาณ 7 วันในการขนส่งจากท่าเรืออี๋ปินสู่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้
  • ท่าเรือหลูโจวเป็น 1 ใน 28 ท่าเรือน้ำจืดภายในประเทศที่สำคัญของจีน และเป็นท่าเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลเสฉวน เป็นท่าเรือที่มีการเชื่อมโยงด้านขนส่งโลจิสติกส์จากระบบราง ทางบกและทางอากาศสู่ทางน้ำ ทำให้เครือข่ายการขนส่งมีความสมบูรณ์ครบวงจร โดยมีขีดความสามารถในการรองรับและขนส่งสินค้า 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์/ปี เมื่อปี 2553 รัฐบาลกลางได้อนุมัติให้ท่าเรือหลูโจว เป็นด่านนำเข้าสินค้าประเภทพืชผัก และการขนส่งสินค้าเกษตรสามารถดำเนินการศุลกากรที่ท่าเรือหลูโจวได้ นอกจากนี้ ท่าเรือหลูโจวยังได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตโลจิสติกส์ปลอดภาษี ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าปลอดภาษีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของมณฑลเสฉวน รองจากโกดังเก็บสินค้าปลอดภาษีซวงหลิว
  • ท่าเรือเล่อซาน เป็นท่าเรือที่มีเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของมณฑลเสฉวน และเป็นท่าเรือแรกสำหรับการขนส่งขนาดใหญ่ในมณฑลเสฉวน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเมืองเล่อซาน ทำให้มีความสมบูรณ์อย่างมากในระบบของการบริการ

     4.4 การคมนาคมทางอากาศ มณฑลเสฉวนมีสนามบินระดับภูมิภาคจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ (1) สนามบินเหอซื่อ เมืองต๋าโจว    (2) สนามบินหลานเถียน เมืองหลูโจว (3) สนามบินหนานเจียว เมืองเหมียนหยาง (4) สนามบินหวงหลงจิ่วไจ้ เขตปกครองตนเองอาป้า (5) สนามบินไช่ป้า เมืองอี๋ปิน (6) สนามบินเกาผิง เมืองหนันชง (7) สนามบินชิงซัน เมืองซีชาง (8) สนามบินคังติ้ง เมืองคังติ้ง (9) สนามบินเป่าอันอิ่ง เมืองพานจือฮัว และ (10) สนามบินผานหลง เมืองก่วงหยวน

     ปี 2562 ท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิวนครเฉิงตู รองรับนักท่องเที่ยว 55,843,800 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.46 จากปี 2561 จัดเป็นศูนย์กลางการบินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากกรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้และนครกว่างโจว มีปริมาณการ ในปี 2562 เฉิงตูเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศใหม่ถึง 9 เส้นทาง อาธิ นครอิสตันบูล (ตุรกี) นครชิคาโก (สหรัฐฯ)  และนครแวนคูเวอร์ (แคนาดา) และเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าเพิ่มสองเส้นทางไปกรุงบรัสเซลส์ (เบลเยียม) และกรุงนิวเดลี (อินเดีย) โดยหากรวมที่เปิดตัวไปแล้วจะเป็นจำนวนกว่า 122 เส้นทาง เป็นอับดับ 4 ของประเทศ และมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคตะวันตกของจีน  ปัจจุบัน สนามบินนานาชาติซวงหลิว มีเส้นทางภายในประเทศ 214 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ 122 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางบินตรงระหว่างจำนวน 69 เส้นทาง โดยในเส้นทางระหว่างประเทศ จะครอบคลุมถึงเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับการธุรกิจการค้า เส้นทางในการขนส่งสินค้า และเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนั้น เร่งดำเนินการขยายเส้นทางมายังประเทศข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง ในรูปแบบ “48 + 14 + 30” โดยครอบคลุมถึงเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับการธุรกิจการค้า 48 เส้นทาง เส้นทางเส้นทางในการขนส่งสินค้า 14 เส้นทาง และเส้นทางสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 30 เส้นทาง ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศถึง 31,000 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9

     รัฐบาลมณฑลเสฉวนตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อถึงปี 2563 ท่าอากาศยานนานาชาติซวงหลิวนครเฉิงตูจะมีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการสูงถึง 63 ล้านคน/ปี ปริมาณการขนส่งสินค้า 1.1 ล้านตัน/ปี ยกระดับขึ้นสู่ 1 ในศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารและกระจายสินค้าทางอากาศที่สำคัญในภาคพื้นเอเซียแปซิฟิก พร้อมกับก้าว    เข้าสู่ตำแหน่ง 1 ในท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด 30 อันดับแรกของโลก

     นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเทียนฝู่ ถือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 และเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2559 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2563 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในครึ่งแรกของปี 2564 ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับเส้นทางบินระหว่างประเทศทุกเส้นทาง และเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลและเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศระดับชาติ ซึ่งจะทำให้นครเฉิงตูมีสนามบินนานาชาติจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติซวงหลิวและสนามบินนานาชาติเทียนฝู่

 

  1. เขตเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวน

     รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้วางพื้นฐานการพัฒนาด้วยการกำหนดเขตเศรษฐกิจยุทธศาสตร์ เพื่อการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของมณฑล ตลอดจนกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคและท้องถิ่น โดยเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ มีดังนี้

      5.1 เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง เดือนเมษายน 2561 รัฐบาลได้อนุมัติใช้แผนการพัฒนาเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง จากนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้รายงานและแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญในการสร้างเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง แก่รัฐบาลจีน ในเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจีนได้ส่งผู้แทนมาสำรวจและวิจัยพื้นที่ในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง และในวันที่ 3 มกราคม 2563 ในการประชุมของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินจีน ครั้งที่ 6 ได้มีการลงนามจัดตั้งเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู –  ฉงชิ่ง

     การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีการบริหารแบบสองศูนย์ เพื่อพัฒนาเป็น (1) ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สร้างศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในระดับมณฑล ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สร้างศูนย์อุปโภคบริโภคระดับนานาชาติ และสร้างฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจดิจิทัล และ (2) ศูนย์กลางด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลระดับประเทศ สร้างเมืองวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกที่นครเฉิงตู และสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ระดับประเทศที่เมืองเหมียนหยาง นอกจากนั้น เขตวงกลมเศรษฐกิจดังกล่าว จะผลักดันการพัฒนาการเปิดสู่ภายนอก สร้างเขตสาธิตด้านนวัตกรรม เขตลงทุนการค้าระดับนานาชาติสำหรับภูมิภาคตะวันตก และสร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน และทัศนียภาพของเมืองที่งดงามด้วย

     5.2 เขตเศรษฐกิจระดับชาติของมณฑลเสฉวน แบ่งออกเป็น 5 เขตตามลักษณะภูมิภาค โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจไว้ ดังนี้  

  1. เขตเศรษฐกิจเฉิงตู(ประกอบด้วยนครเฉิงตู เต๋อหยาง เหมียนหยาง เหมยซานและจือหยาง) เร่งผลักดันและเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนา เพื่อยกระดับเขตเศรษฐกิจเฉิงตูให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในจีนตะวันตก เป็นใจกลางการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร เป็นฐานของอุตสาหกรรม การผลิตที่ทันสมัยและฐานของนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนฐานของการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม   
  2. เขตเศรษฐกิจเสฉวนตอนใต้(ประกอบด้วยเมืองอี๋ปิน จื้อกง เน้ยเจียงและเล่อซาน) เร่งสร้างและพัฒนาให้เขตนี้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและน่าจับตามองมากที่สุดในมณฑลเสฉวน และอาศัย “เส้นทางขนส่งทางน้ำ” เป็นตัวกลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเน้นพัฒนาและปรับปรุงระบบการขนถ่ายระบายสินค้าของท่าเรือหลูโจว ท่าเรืออี๋ปิน ให้มีความทันสมัยและมีความสามารถในการขนส่งและรองรับสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น

         2.3 เขตเศรษฐกิจเสฉวนตะวันออกเฉียงเหนือ (ประกอบด้วยเมืองหนานชง ซุ่ยหนิง ต๋าโจว กว่างอัน ปาจงและกว่างหยวน) วางเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตพลังงาน สารเคมี และฐานการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมันและเกษตรที่สำคัญในจีนตะวันตก เร่งเพิ่มปรับปรุงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

         2.4 เขตเศรษฐกิจเสฉวนตะวันตก (ประกอบด้วยเมืองพานจือฮวา หย่าอัน และเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน) วางแผนจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างชาญฉลาดและใช้สอยให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด โดยเฉพาะแร่ธาตุวาเนเดียมและไทเทเนียมขณะเดียวกัน เร่งคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นฐานอุตสาหกรรมแร่ธาตุวาเนเดียมและไทเทเนียมที่สำคัญในจีน ตลอดจนพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิม ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงวัฒนธรรม ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้น  

         2.5 เขตเศรษฐกิจเสฉวนตะวันตกเฉียงเหนือ (ประกอบด้วยเขตปกครองตนเองกานจือและอาป้า) อนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติพร้อมกับพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ผลักดันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ภายใต้ระบบการจัดการที่ได้มาตรฐานและทันสมัย ปรับปรุงภาคเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ตลอดจนส่งเสริมภาคการบริการสาธารณะให้มากขึ้นเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น 

         2.6 เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ นครเฉิงตู เป็นเขตเศรษฐกิจลำดับที่ 4 ของจีนต่อจาก “เขตเศรษฐกิจ ผู่ตง มหานครเซี่ยงไฮ้”  “เขตเศรษฐกิจปินไห่ นครเทียนจิน” และ “เขตเศรษฐกิจเหลียงเจียง นครฉงชิ่ง” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน มีพื้นที่ 1,578 ตร.กม.ครอบคลุม 3 เมือง (นครเฉิงตู เมืองเหมยซาน และเมืองจือหยาง) 7 เขต (เขตเกาซิน เขตซวงหลิว เขตหลงฉวนอี้ เขตซินจิน เขตเผิงซาน เมืองเจี่ยนหยาง และเขตเหรินโส้ว) ในปี 2563 มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3,500,000 ล้านคน

     เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้าน คือ เป็นประตูสำคัญในการเชื่อมต่อของจีนตอนในภาคตะวันตกกับต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นพื้นที่สาธิตเพื่อการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยรัฐบาลได้วางกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาในเขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ออกเป็น 3 ระยะ คือ

      ระยะที่ 1: ปี 2554-2558 ช่วงเริ่มต้นการพัฒนา มุ่งมั่นพัฒนาในพื้นที่อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อถึงปี 2558 โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายจะสามารถเริ่มเข้าทดลองใช้งานในระบบได้ พื้นที่ในโครงการพัฒนาเริ่มดำเนินการพัฒนาตามกรอบ ที่วางไว้ อุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่และการบริการระดับไฮเอนด์ เริ่มวางกลยุทธ์แผนการพัฒนาในขั้นต้น รวมถึงเร่งบรรลุเป้าหมายของมูลค่ารวม GDP ที่จำนวน 250,000 ล้านหยวน    

     ระยะที่ 2: ปี 2559-2563 โครงการพัฒนาพื้นที่จะสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเมื่อถึงปี 2563 อุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่และอุตสาหกรรมการบริการระดับไฮเอนด์จะมีความชัดเจนขึ้น เขตชุมชนระดับสากลจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในขั้นต้น ตลอดจนเร่งบรรลุเป้าหมายของมูลค่ารวม GDP ที่จำนวน 650,000 ล้านหยวน     

     ระยะที่ 3: ปี 2564-2573 ช่วงการพัฒนาในระยะยาว จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเมื่อถึงปี 2573 เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่จะกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเร่งบรรลุเป้าหมายของมูลค่ารวม GDP ที่จำนวน 1.2 ล้านล้านหยวน    

     นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่มีข้อดีที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนตอนใน 5 ประการ ได้แก่

      1. อาศัยอิทธิพลทางเศรษฐกิจของนครเฉิงตู (เมืองใหญ่ในจีนตะวันตกที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง)ทั้งในด้านมูลค่ารวมGDP ด้านจำนวนรายได้และค่าครองชีพของประชากรในเมืองและชนบท ที่สูงที่สุดในจีนตะวันตกและเป็นเขตการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดและเป็นสากลมากที่สุดตามแผนพัฒนาภาคตะวันตกของจีน

       2. เป็นตลาดของจีนตอนในที่เพียบพร้อมด้วยศักยภาพสำหรับการเจริญเติบโตมากที่สุด เป็นเมืองที่มีตลาดของประชากรขนาดใหญ่ที่สุดในจีนประมาณ 100 ล้านคน เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรด้านการผลิตที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยม รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

      3. เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางที่สำคัญจากจีน ผ่านเอเชียกลาง สู่ทวีปยุโรป และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศในจีนตะวันตกโดยเฉพาะกับทวีปยุโรปและเอเชียซึ่งประกอบด้วยเส้นทางมอเตอร์เวย์ ระบบรางและทางอากาศ

      4. เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่สำคัญในจีนตะวันตกโดยภายในเขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ มีเขตนิคมอุตสาหกรรมระดับประเทศ 2 แห่ง ซึ่งมีบริษัทชั้นนำในด้านต่าง ๆ มาลงทุนประกอบธุรกิจเป็นจำนวนมาก อาทิ บริษัทโทรคมนาคมสื่อสาร บริษัทผลิตอะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

      5. สมบูรณ์ด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวระดับโลก มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอยู่มากมาย กอปรกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงสามารถดึงดูดผู้คนให้มาลองสัมผัสและเยี่ยมชม

      รัฐบาลได้กำหนดรูปแบบ One Road Two Wings, A city of six areas มาใช้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่

      One Road คือ บริเวณแกนกลางถึงตอนใต้และทางด้านตะวันออกไปจรดเขาหลงฉวน จะพัฒนาให้เป็นธุรกิจระดับไฮเอนด์ เช่น การให้บริการธุรกิจการเงิน การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

       Two Wings คือ พื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตก จะพัฒนาให้เป็นเขตพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไฮเทค และเป็นพื้นที่พื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่

       One City คือ เขตเมืองใหม่เทียนฝู่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ให้บริการแบบครบวงจรแก่นักลงทุน โดยมีศูนย์พัฒนาธุรกิจ สำนักงานใหญ่ และการบริหารจัดการระดับไฮเอนด์ในทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ ยังพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางให้บริการด้านที่อยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองที่มีการให้บริการแบบครบวงจรและสมบูรณ์แบบที่สุด

       Six Areas คือ เขตเมืองใหม่เทียนฝู่ซึ่งแบ่งเขตการพัฒนาอุตสาหกรรมออกเป็น 6 เขตได้แก่ 1) เขตอุตสาหกรรมกลยุทธ์นครเฉิงตูและเมืองเหม่ยซาน 2) เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอากาศยานขั้นสูง 3) เขตอุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่หลงฉวน 4) เขตอุตสาหกรรมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา 5) เขตวิทยาศาตร์และเทคโลยีเชิงเกษตรสมัยใหม่ทางตอนใต้ 6) เขตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนานาชาติเหลียงหูอีซาน (Two-Lake & One-Mountain) 

       เขตเศรษฐกิจใหม่เทียนฝู่จะเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลเสฉวน รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันตกของจีนในภาพรวม โดยปรับรูปแบบจากอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่นวัตกรรมและการผลิตที่ทันสมัย ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในภาคบริการให้มีสัดส่วนของ GDP มากขึ้นตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางจีน

  1. ความสัมพันธ์ไทย – เสฉวน

    6.1. การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง

           ไทยกับมณฑลเสฉวนมีความสัมพันธ์ที่ดีนับตั้งแต่เปิด สกญ. ณ นครเฉิงตู เมื่อปี 2548 เป็นประเทศที่ 4 ต่อจากสหรัฐฯ เยอรมนี เกาหลีใต้ (หมายเหตุ : ปัจจุบันมี สกญ. ต่างประเทศตั้งอยู่ในนครเฉิงตูทั้งหมด 20 ประเทศ เรียงลำดับตามปีที่จัดตั้ง ดังนี้ เยอรมนี เกาหลีใต้ ไทย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก อินเดีย สวิสต์เซอร์แลนด์ ออสเตรีย กรีซ เนปาล สเปน และชิลี

            มณฑลเสฉวนเป็นหนึ่งในมณฑลของจีนที่พระราชวงศ์ไทยเสด็จฯ/ เสด็จเยือน และผู้นำระดับสูงเยือน หลายพระองค์/ คน ได้แก่ (1) เมื่อปี 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนนครเฉิงตู และสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ อำเภอเป่ยชวน เมืองเหมียนหยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย และทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างอาคารเรียน ณ โรงเรียนประถมศึกษาเซียนเฟิงลู่ สิรินธร (2) วันที่ 7-9 เมษายน 2553 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนมณฑลเสฉวน ทรงเข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนประถมศึกษาเซียนเฟิงลู่สิรินธร และทรงพระราชทานพระพุทธชินราชทองจำนวน 8 องค์แก่วัดต่าง ๆ ในมณฑลเสฉวน (3) 8-10 เมษายน 2554 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง พระองค์ทรงรับตำแหน่ง ศ. กิตติมศักดิ์ จาก ม. เสฉวน ม. เฉิงตู และ ม.ซีหนาน  (4) พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  เสด็จเยือนมณฑลเสฉวน ตามคำกราบทูลเชิญของสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศ มณฑลเสฉวน ระหว่างวันที่ 25-30 กันยายน 2555 โดยสถาบันการอาหารชั้นสูงแห่งมณฑลเสฉวน (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยการท่องเที่ยวเสฉวน) ได้ทูลเกล้าถวายตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ และเมื่อเดือนสิงหาคม 2558  รอง นรม. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ได้เยือนนครเฉิงตูเพื่อเข้าประชุมหารือ คกก.รถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 6   

            สำหรับการเยือนระดับสูงที่สำคัญระหว่างปี 2559 – 2561 เช่น (1) การเยือนนครเฉิงตูของ ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตรชลชัย ประธาน สนช. เมื่อวันที่ 25 – 26 พฤษภาคม 2559 (2) การเยือนเมืองเล่อซานของนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วธ เมื่อวันที่ 22 – 23 กันยายน 2559 (3) การเยือนนครเฉิงตูของพลเอกธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รอง นรม. เมื่อวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2559      (4) การเสด็จฯ ผ่านนครเฉิงตูของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นการเยือนมณฑลเสฉวนครั้งที่ 8 (5) การเข้าร่วม กปช.สมัชชาใหญ่ UNWTO ของ รมว. ก.ท่องเที่ยวฯ และปลัด ก.ท่องเที่ยวฯ ที่นครเฉิงตู เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 (6) การเยือนเสฉวนของ รอง นรม. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง พร้อม รมว.ก.ดิจิทัลฯ ระหว่าง 9 – 10 พฤศจิกายน 2560 และ (7) การเสด็จฯ เยือนมณฑลเสฉวนอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ระหว่าง วันที่ 6 – 10 เมษายน 2561 โดยเสด็จฯ เยือนนครเฉิงตู เมืองเหมียนหยาง/เป่ยชวน เมืองเหมยซาน และเมืองเล่อซาน/เอ๋อเหมยซาน (ง๊อไบ้)   

        นอกจากนี้ เมื่อเดือนกันยายนปี 2560 รัฐบาลไทยได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาทแก่รัฐบาลมณฑลเสฉวน เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อำเภอจิ่วไจ้โกวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 โดยมอบหมายให้กงสุลใหญ่ฯ เป็นผู้มอบ

  • ความสัมพันธ์ด้านการค้า

การค้าระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวน ปี 2562 มีมูลค่า 8,374.19 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 มณฑลเสฉวนนำเข้าจากไทยมูลค่า 2,870.76 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 มณฑลเสฉวนส่งออกไปไทยมูลค่า 5,503.43 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 โดยสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตร เหล็ก (อ้างอิงข้อมูลจาก สคต. เฉิงตู)

 6.3 ความสัมพันธ์ด้านการลงทุน

บริษัทไทยที่มาลงทุนในมณฑลเสฉวน

บริษัทไทยที่มาลงทุนในมณฑลเสฉวนตามข้อมูลของทางการเสฉวนมีจำนวน 97 รายที่ได้มาขึ้นทะเบียน แต่ลงทุนจริงเพียง 45 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 7,769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนด้านการบริการ อุตสาหกรรมการผลิต กิจการค้าปลีก – ส่ง ฟาร์ม    ที่พักและร้านอาหาร การเงิน อาหารสัตว์ เป็นต้น โดยการลงทุนหลัก ได้แก่    

  1. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. GROUP) ของไทย ได้ก่อตั้งโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ขึ้นในอำเภอ ผีเสี้ยน โรงงานชาจีนที่เมืองหย่าอัน และโรงงานผลิตไวน์ที่เมืองซีชาง มณฑลเสฉวน โดยเป็นบริษัทไทยที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดและลงทุนในมณฑลเสฉวนมานานกว่า 30 ปี (เป็นบริษัทลงทุนต่างชาติบริษัทแรก   ในเสฉวน)
  2. บริษัท อีซีไอ-เมโทร (ECI-Metro) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอีซีไอ กับบริษัท เมโทรแมชีนเนอรี่ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายเครื่องจักรกลหนักของ Caterpillar (แคตเตอร์พิลลาร์) ในประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งจาก Caterpillar ให้เป็นผู้แทนจำหน่ายและให้บริการ Caterpillar ในเขตภาคตะวันตกของประเทศจีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ซึ่งดำเนินกิจการครอบคลุมพื้นที่ 9 มณฑลของภาคตะวันตกจีน ประกอบด้วย มณฑลเสฉวน นครฉงชิ่ง มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลส่านซี มณฑลกานซู เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย มณฑลชิงไห่ และเขตปกครองตนเองทิเบต
  3. ธนาคารกสิกรไทย เปิดสาขาที่นครเฉิงตู ซึ่งเป็นสาขาที่สองในประเทศจีน และถือเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างมณฑลเสฉวนและภาคตะวันตกของจีนกับประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน
  4. บริษัท สุโขไทย อินเตอร์คอร์ปอเรท จำกัด
  5. บริษัท Earthbound จำกัด
  6. บริษัท ฟาร์-อี จำกัด
  7. เครือ บ. เวทโปรดักส์ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตสารเสริมอาหารในอาหารปศุสัตว์ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำ ถือเป็นบริษัทด้านการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์รายใหญ่อันดับ 3 ของไทยรองจากเครือซีพีและเครือเบทาโกร ได้แสดงความสนใจในการจดทะเบียนบริษัทในมณฑลเสฉวน ภายใต้ชื่อ บจก. เวทโปรดักส์ (เสฉวน)

บริษัทเสฉวนที่ไปลงทุนในไทย

     เดือนตุลาคม 2562 บริษัทจากเสฉวนที่ไปลงทุนที่ไทยจำนวนกว่า 11 บริษัท  มูลค่าในการลงทุน 11,3360,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบริษัท Sichuan Weibo Co.,LTD ลงทุนไปกว่า 84.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และก่อตั้ง บริษัท เอเชียคอมโพสิต (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับรายชื่อบริษัทเสฉวนที่ลงทุนในไทย ยกตัวอย่างดังนี้

  1. บริษัท ซื่อชวนฮุ่ยหยวนกวังทงซิ่น จำกัด มูลค่าการลงทุนในไทยจำนวน 1,143,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบธุรกิจด้านสายไฟและอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
  2. บริษัท เฉิงตูเหลียนซิงจื๋อเย่ฟาจ่าน จำกัด มูลค่าการลงทุนในไทยจำนวน 24,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ โรงแรม สวนสนุก
  3. บริษัท เสฉวนหยูหวังเซิงไท่หนงเย่ฟาจ่าน จำกัด มูลค่าการลงทุนในไทยจำนวน 510,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบธุรกิจด้านแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับจีน

4.บริษัท ฮวาซีเหนิงหยวน มูลค่าการลงทุนในไทยจำนวน 279,040,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ประกอบธุรกิจด้านพลังงานทดแทน

  1. บริษัท Sichuan Weibo Communications Co.Ltd. ประกอบธุรกิจด้านการผลิตกระจก

     
      6.4 ความสัมพันธ์ด้านท่องเที่ยว                                                                                                    
           
จากสถิติของกรมการท่องเที่ยว ระบุว่าไทย ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากมณฑลเสฉวนเดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ารวม 1,098 ล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในเป้าหมายการท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวจากมณฑลเสฉวน

      6.5 ความสัมพันธ์ด้านการศึกษา

            ไทยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในมณฑลเสฉวนหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเสฉวน  มหาวิทยาลัยเฉิงตู มหาวิทยาลัยเจียวทง มหาวิทยาลัยซีหนานฉายต้า วิทยาลัยการท่องเที่ยวเสฉวน มหาวิทยาลัยราชภัฎเสฉวน และมีแนวโน้มทางความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการต่อยอดหลังการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง/เมืองมิตรภาพ ระหว่างเมืองในมณฑลเสฉวนกับจังหวัดต่าง ๆ ของไทย ซึ่งมีการทำ MOU แลกเปลี่ยนนักศึกษากัน และมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาของกันและกันอย่างต่อเนื่อง สถานกงสุลใหญ่ฯ เห็นว่านโยบายเมืองพี่เมืองน้องเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินความสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน นอกจากนี้ มีชาวเสฉวนสนใจส่งบุตรหลานไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยในทุกระดับชั้นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียน/สถาบันนานาชาติในประเทศไทย

           เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 กสญ. ได้สนับสนุนการจัดตั้งห้องไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู เพื่อใช้เป็นห้องการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมไทย และมีการดำเนินโครงการเชิญผู้บริหาร/นักวิจัยจากไทยเดินทางมาเสริมสร้างเครือข่ายกับสถาบัน/หน่วยงานที่โดดเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี/การคมนาคม เช่น เรื่องรถไฟความเร็วสูงฯลฯ และเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งนี้ สกญ.ได้จัดตั้งห้องไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเสฉวนเมื่อปี 2555
            เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 รษก. กสญ. ได้หารือกับศาสตราจารย์หวัง ชิงหยวน อธิการบดี นางเผิง เสี่ยวหลิน รองอธิการบดี อ.ชะภิพร  เกียรติคชาธาร หัวหน้าศูนย์ประสานความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเฉิงตู ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเรื่องการสอนภาษาไทยและอาเซียน การสนับสนุนสมาคมนักเรียนไทย นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันไทยศึกษาแห่งมณฑลเสฉวน โครงการส่งอาสาสมัครจีนไปสอนภาษาจีนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทย  

            เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 รษก. สกญ. ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือผ่านระบบออนไลน์ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ วิทยาลัยการบริการและการท่องเที่ยวจิงโกะ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน (Gingko College of Hospitality Management) เป็นครั้งแรก นำโดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิวเศน์ นันทจิต อธิบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายหลี หมิง อธิการบดีวิทยาลัยการบริการและการท่องเที่ยวจิงโกะ และเร็ว ๆ นี้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมาสำนักงานการต่างประเทศมณฑลเสฉวนได้ประสาน สกญ. เพื่อขอประชุมร่วมกับ รษก. สกญ. เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาไทย-เสฉวน พรอ้มหารือการส่งอาสาสมัครชาวจีนไปสอนภาษาจีนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทย

            เมื่อวันที่ 23 - 24 ตุลาคม 2563 นางทิพย์วรรณ ศุภมิตรกิจจา กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู พร้อมด้วยนายวรันณ์ธร คชทโรภาส กงสุล และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางเยือนนครฉงชิ่ง เพื่อเยี่ยมนักศึกษาไทยที่ Southwest University (SWU) เพื่อถามไถ่ทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของนักเรียนไทย และพบปะหารือผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย - จีน ตลอดจนการเรียนการสอนภาษาจีนสำหรับนักศึกษาไทย โดย SWU เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงลำดับต้น ๆ ของนครฉงชิ่ง มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรด้านการสอนภาษาจีนให้กับชาวต่างชาติ และมีนักศึกษาไทยมากที่สุดในนครฉงชิ่งประมาณ 300 คน อย่างไรก็ดี นักศึกษาไทยจำนวนมากได้เดินทางกลับไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีน จากนั้น ได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมครบรอบ 70 ปีการสถาปนามหาวิทยาลัย Sichuan International Studies University (SISU) และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน SISU มีนักศึกษาจีนที่เรียนวิชาเอกภาษาไทย (รวม 4 ชั้นปี) 94 คน

            และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 นางทิพย์วรรณ ศุภมิตรกิจจา กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู พร้อมด้วยนายวรันณ์ธร คชทโรภาส กงสุล และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางเยือนมหาวิทยาลัยเสฉวน (Sichuan University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยประจำมณฑลที่มีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของจีน ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ฯ ได้พบหารือกับนายเหยา เล่อเหย่ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเสฉวน เกี่ยวกับการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาและวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับมหาวิทยาลัยเสฉวน และพบปะกับนักศึกษาไทยเพื่อถามไถ่ทุกข์สุขและความเป็นอยู่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเสฉวนมีนักศึกษาไทยจำนวน 70 คน ศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อย่างไรก็ดี ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในจีน นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับประเทศไทยไปและยังไม่สามารถเดินทางกลับมาเพื่อศึกษาต่อได้

        6.6 ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง/ เมืองมิตรภาพระหว่างเมืองในมณฑลเสฉวนกับจังหวัดต่าง ๆ ของไทย

         ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองต่าง ๆ ของมณฑลเสฉวนกับจังหวัดต่าง ๆ ของไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากเมืองพี่เมืองน้องระหว่างไทยกับมณฑลเสฉวนที่มีการสถาปนาแล้วมี 5 คู่ ได้แก่

(1) จ.สุพรรณบุรี – มณฑลเสฉวน (2) จ.เชียงใหม่-นครเฉิงตู (3) จ.ประจวบคีรีขันธ์ – เมืองเล่อซาน (4) จ.นครราชสีมา – มณฑลเสฉวน  และ (5) จ. กาญจนบุรี – เขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน (อยู่ระหว่างการเจรจาสถาปนาฯ)

          สำหรับเมืองที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองคู่มิตร/ เมืองมิตรภาพ  ได้แก่ (1) นครเฉิงตู – กรุงเทพฯ (2) จ.อุบลราชธานี – นครเฉิงตู (3) จ. เชียงใหม่ – เมืองเหมยซาน (4) จ.ลำพูน - เมืองตูเจียงเยี่ยน (5) จ. จันทบุรี - เขตเผิงโจว (6) เมืองซุ่ยหนิง - จ.ภูเก็ต และ (7) จ. ระยอง - เขตใหม่เทียนฝู่
          เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้พบหารือกับนาย Yin Li ผู้ว่าการมณฑลเสฉวน เพื่อผลักดันความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในฐานะเมืองพี่เมืองน้อง อาทิ ด้านการค้าการลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีและผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามในสมุดแห่งมิตรภาพด้วย

          นอกจากนั้น ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เมืองพี่เมืองน้องได้มีการร่วมบริจาคหน้ากากระหว่างกัน ดังนี้

  1. เมื่อวันที่ ​15 มิถุนายน 2563 นายนิมิตร วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานรับมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 10,000 ชิ้น จากรัฐบาลมณฑลเสฉวน
  2. เมื่อวันที่ ​24 มิถุนายน 2563 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และรองผู้อำนวยการกิจการด้ามปฐมภูมิ รพ.มหาราชนครราชสีมา เป็นผู้แทนรับมอบหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโควิด -19 จากมณฑลเสฉวน
  3. วันที่ 29 เมษายน 2563 นายทอง พันทอง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รับมอบการสนับสนุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากเมืองเหมยซาน มณฑลเสฉวน
  4. นครเฉิงตูได้ส่งมอบหน้ากากอนามัย​ N95​ จำนวน​ 2,000 ชิ้นและเครื่องวัด​อุณหภูมิ​ จำนวน​ 50 ชิ้น​ ให้แก่ กทม.
  5. นคร​ฉงชิ่งได้ส่งมอบเสื้อ protective suit จำนวน 600 ชุด เสื้อ Isolation suit จำนวน 600 ชุด ให้แก่ กทม. และเชียงใหม่
  6. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหน้ากากอนามัยที่ได้รับบริจาคมาจากเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋เหลียงซาน มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 50,000 ชิ้น ให้กับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 10,000 ชิ้น สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี 10,000 ชิ้น เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี 10,000 ชิ้น และอำเภอทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 20,000 ชิ้น

 

  1. โอกาสความร่วมมือกับประเทศไทย

         ปัจจุบัน มณฑลเสฉวนได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ โดยมีการปรับเปลี่ยนด้านการพัฒนาพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ โดยได้ออกมาตรการสำคัญหลายประเภท อาทิ นโยบายสำหรับการพัฒนาพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ แผนพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนในมณฑลเสฉวน และการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เชื่อมต่ออัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงขีดความสามารถด้านนวัตกรรม การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงมาตรฐานการเสริมสร้างและดูแลรถยนต์ มณฑลเสฉวนให้ความสำคัญกับพลังงานใหม่และอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะเนื่องจากถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมและการส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขันระหว่างประเทศ

        เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 กรมเศรษฐกิจและสารสนเทศมณฑลเสฉวนและสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศนครฉงชิ่งได้ลงนามความร่วมมือ “ข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะในเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง” โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีของยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ ร่วมปรับปรุงระดับการเชื่อมต่อเครือข่ายอัจฉริยะของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ร่วมสร้างสภาพแวดล้อมการใช้งานร่วมกันสำหรับถนนและยานยนต์ รวมถึงร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันสาธิตเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมยานยนต์เครือข่ายอัจฉริยะในเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง

        เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 มณฑลเสฉวนได้จัดกิจกรรม Sichuan New Energy และ Intelligent Connected Automobile Exchange Matchmaking ณ นครเฉิงตู โดยมีบริษัทที่ติดอันดับ Fortune Global 500 และบริษัทข้ามชาติที่มีชื่อเสียงรวม 26 แห่ง บริษัท China Fortune 500 2 แห่ง ผู้นำในอุตสาหกรรม 16 แห่ง หอการค้าอุตสาหกรรม 4 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว นายหวง ซินชู หัวหน้าสำนักงานกลไกอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และยานยนต์อัจฉริยะมณฑลเสฉวน ระบุว่า พลังงานใหม่และอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับการดูแลและพัฒนาโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวนมาโดยตลอด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยายนต์ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยในปี 2562 มีการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะ 150,000 คัน เร่งสร้างสถานีชาร์ตพลังงาน 300 แห่ง

  1. การจัดตั้งหอการค้า

        ไม่มีการจัดตั้งสภาหอการค้า หรือสมาคมธุรกิจไทยในมณฑลเสฉวน

  1. ชุมชนไทย

         สมาคมนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัยเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน (成都大学太过留学生协 / Thai Student Association in Chengdu University) ซึ่งมีนายกฤษฏิ์ ศรีสุขวัฒนานันท์ ประธานสมาคมฯ มีสมาชิกจำนวน 280 คน เพื่อเป็นสถานที่รวมตัวของกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาไทย ที่มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเฉิงตู เป็นหน่วยงานฝนการประสานงานและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่นักเรียน/นักศึกษาไทย เปิดโอกาสให้นักเรียน/นักศึกษาไทยได้จัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ได้อย่างมีศักยภาพ

ช่องทางการติดต่อ อีเมล : [email protected]

Facebook : https://www.facebook.com/สมาคมนักศึกษาไทย-มหาวิทยาลัย-สาธารณรัฐประชาชนจีน-360156864499414

และที่อยู่ : ห้องไทยศึกษา A103 คณะนานาชาติ มหาวิทยาลัยเฉิงตู /Chengdu University Chengluo Rd., Longquanyi District, Chengdu, PR.China, 610106   

  1. 9. นักโทษ

ไม่มีนักโทษไทยในมณฑลเสฉวน

***************************************

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู