วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.พ. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 20 พ.ย. 2565
ในช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู (สกญ.ฯ) ได้จัดงานเทศกาลไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดต่อเนื่องกันถึง 2 งาน ทั้งในนครฉงชิ่งและนครเฉิงตู งานเทศกาลไทยทั้ง 2 งานมีผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทั้งด้านผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโดยนำสินค้าไทยมาแสดงอย่างครบครัน หน่วยงานไทยในเขตอาณาของ สกญ.ฯ ที่เข้าร่วม รวมไปถึงชาวนครฉงชิ่ง/นครเฉิงตูที่ถือเป็นผู้บริโภคหลักที่เข้ามาเที่ยวชมงาน จับจ่ายซื้อของ เจรจาความร่วมมือทางการค้ากับผู้ประกอบการ คู่ไปกับการชมการแสดงและสัมผัสถึงศิลปะวัฒนธรรมไทยอย่างใกล้ชิด
งานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมไทย ณ นครฉงชิ่ง ประจำปี 2556
|
ทั้งนี้ สกญ.ฯ ยังได้รับความร่วมมือเข้าร่วมจัดงานจากทีมประเทศไทย ได้แก่ ททท. สาขานครเฉิงตู กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นครเฉิงตู บ. การบินไทย สาขานครเฉิงตู และ หน่วยงานเอกชน ได้แก่ ธ.กสิกรไทย สาขานครเฉิงตู อีกด้วย
สำหรับไฮไลท์ที่สามารถดึงดูดให้ชาวนครฉงชิ่งเดินทางเข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ ได้อย่างล้นหลาม คือ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยของคณะนาฏศิลป์จำนวน 27 คน จากหน่วยงานพัฒนาศูนย์เยาวชน กองนันทนาการ สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคณะนาฎศิลป์ชุดใหญ่ที่สุดที่เข้าร่วมแสดงในงานเทศกาลไทยที่ สกญ.เคยจัดมา
รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่มีจำนวนมากถึง 74 ราย ครอบคลุม 5 กลุ่มประเภทสินค้า ได้แก่ สินค้าหัตถรรม เครื่องเรือน เครื่องประดับและอัญมณี ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ อาหารแห้งของไทย ร่วมด้วยช่วยกันประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดงาน
ในช่วงพิธีเปิดงาน ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในเช้าวันที่ 30 ก.ย. 56 ณ ลานหน้าเวทีกลางแจ้ง โดยมี เรือโทโกเมศ กลมนาวิน กงสุลใหญ่ประจำนครเฉิงตู เป็นประธานในพิธี สำหรับผู้นำฝ่ายจีน ได้แก่ นายเฉิน เกาซาน รอง อธ. สนง. ตปท. นครฉงชิ่งและกิจการชาวจีนโพ้นทะเลนครฉงชิ่ง นายฮู่ ว่านไท่ หัวหน้าเขตหยูจง และผู้บริหารระดับสูงของห้างสรรพสินค้า Times Paradise Walk รวมถึง กงสุลใหญ่จากประเทศ เดนมาร์ก แดนาดา ฮังการี ฟิลิปปินส์ และเอธิโอเปียเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
|
สกญ.ฯ เคยได้จัดงานเทศกาลไทยในนครฉงชิ่งมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2549 และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 เสมือนเป็นการ “เปิดตัว โปรโมตไทย” ครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของ ททท. การเปิดเที่ยวบิน “Thai Smile” ตรงจากนครฉงชิ่ง-กทม. ของ บ.การบินไทย จำกัด ที่ได้เริ่มทำการบินเที่ยวปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา พร้อมมอบรางวัลตั๋วเครื่องบินไปกลับนครฉงชิ่ง-กทม. และแพ็คเกจท่องเที่ยวของ บ.การบินไทย ให้กับผู้โชคดีที่เข้ามาเดินเที่ยวงานโดยการจับรางวัลบนเวทีซึ่งมี กสญ.ฯ เป็นประธาน
|
หากถามต่อไปว่า ชาวนครฉงชิ่งนั้น รู้จักไทยด้านใดบ้าง ตอบยอดนิยมที่มาเป็นอันดับแรก คือ ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจากการสอบถามจากผู้ที่มาเดินชมงานนั้น มากกว่า 70% ตั้งเป้าที่จะเดินทางไปเที่ยวเมืองไทยในอนาคต โดยอยากจะเดินทางไปเที่ยวทะเลมากที่สุด ซึ่งมีผลมาจากการเดินทางไปประเทศไทยจากนครฉงชิ่งในปัจจุบัน มีความสะดวกมาก ราคาตั๋วเครื่องบินไม่แพง และสามารถเลือกเวลาเดินทางได้อย่างอิสระ
อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ชาวนครฉงชิ่งรู้จักประเทศไทยนั้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง “Lost in Thailand” ที่เข้าฉายทั่วประเทศจีนไปแล้วเมื่อปลายปี 2555 โดยใช้สถานที่ถ่ายทำในไทยถึง 95% ถือเป็นภาพยนตร์ที่โกยรายได้มากที่สุดและมีผู้คนเข้าชมมากที่สุดในประวัติการณ์วงการแผ่นฟิล์มแดนมังกร ทำให้ชาวนครฉงชิ่งรวมถึงชาวจีนเกือบทุกคนรู้จักประเทศไทยและอยากเดินทางไปเที่ยวประเทศไทยไปโดยอัตโนมัติ
|
โอกาสทางการค้าจึงได้เริ่มขึ้นตามดีมานด์ของผู้บริโภคชาวจีนที่ขยายตัว ทำให้เกิดตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Taobao เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าในโลกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่สุดของจีน ที่สามารถเลือกสินค้าได้ทุกประเภทได้ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ รวมถึงของสินค้าไทยด้วย รวมถึงใน “Weibo” (ทวิตเตอร์ของจีน) และ “Weixin หรือ Wechat” (Line ของจีน) ก็มีตัวแทนขายสินค้าของไทยอย่างมากมาย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยที่นำเข้าสินค้าของตนเองเข้ามายังตลาดจีนโดยตรง จะต้องเตรียมพร้อมในเรื่องการตลาดและปรับตัวให้ทันท่วงที ลองไปดูว่า งานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมไทย ณ นครฉงชิ่ง ในครั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยมีความคิดเห็นอย่างไรหลังจากที่ได้เข้ามารู้จักกับตลาดผู้บริโภคในนครฉงชิ่ง
ตัวอย่างมุมมองจากผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
|
คุณอานนท์ ผู้ประกอบการ บ.จิรภาจิวเวลรี่
จำหน่ายเครื่องประดับเงิน ทอง ทองคำขาว พลอย และนิลจาก จ.กาญจนบุรี โดยมีราคาตั้งแต่หลัก 200-60,000 หยวน สำหรับงานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 5,000-6,000 หยวน
คุณอานนท์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เข้ามาแสดงสินค้าในจีนแล้วที่เมืองซัวเถา และนครคุนหมิง สำหรับนครฉงชิ่งถือเป็นครั้งแรกที่มาลองตลาด และพบว่ามีชาวนครฉงชิ่งมาชมงานเยอะมาก และมีความสนใจในสินค้าของเรามากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหวนและกำไล เพราะเป็นงานดีไซน์แฮนด์เมดที่ละเอียดปรานีตเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
ด้านกลุ่มเป้าหมายที่สนใจในเครื่องประดับของเราภายในงานครั้งนี้นั้น จะอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคระดับสูงเป็นหลัก รวมถึงผู้มีความรู้เรื่องอัญมณี ซึ่งลูกค้าที่เห็นฝีมือการเจียระไนของเราก็จะซื้อไปทันทีชนิดไม่ยุ่งยาก แต่ผู้บริโภคบางรายที่ไม่มีความรู้ในเรื่องอัญมณีก็จะเกิดความสงสัยว่าเป็นของจริงหรือไม่ เพราะในจีนมีการปลอมแปลงเยอะมาก ทำให้มีความรู้สึกว่าของจริงควรวางโชว์อยู่แต่เฉพาะในห้างเท่านั้น
ปัจจุบัน ร้านจิรภาจิวเวลรี่ ขยายสาขามาที่นครคุนหมิงแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะมารับสินค้าเราไปในราคาส่ง และนำไปสร้างแบรนด์ของตนเอง ซึ่งสินค้าที่ขายดีนั้นเป็นอัญมณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทับทิม เพราะมีสีแดงซึ่งเป็นสีนำโชคของคนจีน
คุณอัญรัตน์ คุณากรประพันธ์ ผู้ประกอบการกลุ่มเจียระไนนิลจินดาพิทักษ์
ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับประเภท แหวน กำไล สร้ายคอ จี้ ต่างหู และอัญมณี อาทิ นิล พลอย ไพลิน มีราคาตั้งแต่ 50 จนถึงหลักพันหยวน สำหรับงานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 10,000 หยวน
คุณอัญรัตน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยไปแสดงงานที่นครกว่างโจว คุนหมิง ซีอาน แล้วและครั้งนี้ได้มีโอกาสมาที่นครฉงชิ่ง สำหรับในงานนี้ เครื่องประดับที่ขายดีนั้นจะแหวนนิลสีดำ เพราะผู้บริโภคบางคนไม่เคยพบเห็นมาก่อน และเห็นเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่หากเปรียบเทียบกำลังซื้อของที่นครฉงชิ่งแล้ว คิดว่ายังน้อยกว่าที่นครคุนหมิง
ปัจจุบัน กลุ่มเจียระไนของเรานั้นเริ่มต้นเข้ามารู้จักกับตลาดจีนแล้ว มองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจมาก และมีอนาคต ส่วนก้าวต่อไป คือ การหาตัวแทนจำหน่ายในจีน หากผู้ใดสนใจก็สามารถติดต่อโดยตรงกับทางกลุ่มของเราได้
คุณไชยยันต์ ปทุมชาติ ผู้ประกอบการ บ.ไชยพรรณ 999
ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องประดับแหวน สร้ายคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู ที่มีไข่มุกอันดามันจาก จ.ระนอง เป็นส่วนประกอบ โดยเป็นงานดีไซน์ในแบบไทยที่เป็นลงตัว มีให้เลือกหลายแบบ ครองใจกลุ่มลูกค้าหลากสไตล์ รวมถึงลูกค้าชาวจีนที่ไปเที่ยวเมืองไทย ก็ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สำหรับงานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 5,000 หยวน
คุณไชยยันต์กล่าวว่า ร้านไชยพรรณ 999 มีหลายสาขาในไทย ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสมาแสดงสินค้านอกประเทศที่นครฉงชิ่ง ถือเป็นการมาศึกษาตลาดเพื่อวางแผนขยายธุรกิจสู่จีนในอนาคต
หลังจากที่ได้เข้ามาร่วมแสดงงาน ผมรู้สึกว่าผู้บริโภคที่นี่ให้ความสนใจในสินค้าของเรามาก ส่วนกำลังซื้อมีมากน้อยคละเคล้ากันไป ตั้งราคาไม่สูงมาก ลูกค้าที่สนใจก็จะซื้อทันที ลูกค้าส่วนมากเป็นสตรี คนที่นี่รักสวยรักงาม ต่างหูจึงเป็นสิ่งที่ขายออกไปได้มากที่สุด
คุณเจษฎา จิรพรรณทวี ผู้ประกอบการศูนย์หัตถกรรมบ้านเบญจวรรณ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
ผู้ผลิตงานแฮนด์เมดประเภทเครื่องประดับสตรี เทียนหอม เพื่อการส่งออก สำหรับงานเทศกาลไทยที่นครฉงชิ่งในครั้งนี้ ได้นำเครื่องประดับสตรีที่ทำจากแป้งดินญี่ปุ่นมาลุยตลาดเพราะจากประสบการณ์ที่คว่ำหวดอยู่ในตลาดจีนมากว่า 10 ปี ทำให้รู้จักถึงรสนิยมของผู้บริโภคที่นี่ว่าเป็นเมืองที่สตรีรักสวยรักงามที่สุด งานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 2,000-3,000 หยวน
การมาร่วมงานเทศกาลไทยในครั้งนี้ ตั้งใจที่จะมาประชาสัมพันธ์สินค้างานหัตถกรรมของไทย และเข้ามาทดลองตลาดไปในเวลาเดียวกัน ทำให้ทราบได้ดีเลยว่ารสนิยมของผู้บริโภคนั้นต่างกันในแต่ละที่แต่ละเมือง สำหรับในนครฉงชิ่งแล้ว สตรีที่นี่ชอบพอสินค้าของเราในรายการต่างหู และที่คาดผมสร้อยคอแบบ “Two in one” ขายดีที่สุด
คุณเจษฎาแนะนำเพิ่มเติมว่า “การทำธุรกิจในจีนจำเป็นจะต้องมีบุคลากร ทุนทรัพย์ และความคิดริเริ่ม ควบคู่กับการมองหาตัวแทนจำหน่าย จากนั้นค่อยกระจายสินค้าไปเมืองต่างๆ ของจีน”
หลังจากที่หาตัวแทนจำหน่ายที่ไว้วางใจได้ หากมีลูกค้าต้องการสินค้า เราก็ให้ติดต่อตรงกับ ตัวแทนของเราเป็น priority เพราะเราจะมีอุปสรรคเรื่องของภาษาในการติดต่อค้าขาย “เราให้เกียรติิตัวแทนของเรา เพราะเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
ตัวอย่างมุมมองจากผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางค์สมุนไพรความงาม
|
คุณนุชรี นิลสุวรรณ และ คุณสิริวรรณ สิงหาวงศ์ ผู้ประกอบการ บ.โปรเจค ดี
ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์สมุนไพรสปามากว่า 8 ปี การมาร่วมงานที่นครฉงชิ่ง ได้นำผลิตภัณฑ์สปาประเภท hair care, facial care, body fruit care ล้วนทำจากสมุนไพรไทย มาแสดง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจาก silk protein, ผงไหม โดยเฉพาะแชมพูที่สกัดจากน้ำซาวขาว ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวนครฉงชิ่งเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานที่ใส่ใจในสุขภาพ งานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4,500-5,000 หยวน
ออกตลาดต่างประเทศมาหลายปีแล้ว เปิดบริษัทมาเจ็ดแปดปีแล้ว เริ่มออกต่างประเทศมาประมาณสองสามปี ฉงชิ่งเพิ่งมาเป็นครั้งแรก มาลองตลาดดู ออกงานกับ สกญ. จะเป็นแนวขายปลีกมากกว่าตัวแทนจำหน่าย ก็มีคนมาติดต่อบ้าง มีตัวแทนอยู่ที่หนานจิง กับสิบสองปันนา ตอนนี้ยังถือว่าน้อยอยู่
พฤติกรรมผู้บริโภคชาวนครฉงชิ่งใกล้เคียงกับเมืองอื่นๆ ในจีน คือ เน้นปริมาณ ราคาถูก ตัดสินใจซื้อจากตัวแพ็คเกจจิ้งเป็นหลัก ตามด้วยกลิ่น ซึ่งผู้บริโภคแต่ละเมืองจะมีความชอบที่ต่างกัน สำหรับที่นครฉงชิ่งชอบกลิ่นอ่อนๆ ปฏิเสธกลิ่นฉุน เช่น กุหลาบ ลาเวนเดอร์ มะลิ เป็นต้น
เป้าหมายของบริษัทเราต้องการหาตัวแทนจำหน่ายในจีนเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 รายแล้วที่ทำตลาดให้กับเรา สำหรับในนครฉงชิ่งถือเป็นการมาประชาสัมพันธ์สินค้าของเราคู่กับการลองตลาดในนครที่เป็น center ใหญ่ของภาคตะวันตก ซึ่งเรายินดีหากมีผู้แทนจำหน่ายท่านใดสนใจที่จะมาร่วมมือก้าวไปด้วยกันกับเรา
คุณเสือ ผู้ประกอบการร้านคุณเสือ & ปาย เนเชอรัลโปรดักส์
ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเสริมความงามจากสมุนไพร อาทิ เซรั่มบำรุงหน้า โลชั่น สบู่ เป็นต้น คุณเสือและภรรยาควบคุมกระบวนการผลิตเองทั้งหมดตั้งแต่การเพาะเมล็ดพันธุ์สมุนไพร การปลูกสมุนไพร การสกัด จนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ “คุณเสือ & ปาย เนเชอรัลโปรดักส์” ซึ่งถือเป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว ชนะเลิศการประกวดทุกปี ส่วนแบรนด์ที่จะทำเพื่อรองรับตลาดจีนในอนาคต คือ Mr.เหลาหู่ (Mr.老虎) สำหรับการมาร่วมงานครั้งนี้สามารถทำรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 4,000-8,000 หยวน
คุณเสือเล่าให้ฟังว่า หากพูดถึงชาวต่างชาติที่เป็นลูกค้ามาเที่ยวและซื้อของที่ร้าน (อ.ปาย) ในปัจจุบันส่วนใหญ่กว่า 40% เป็นคนจีนที่มาจากนครฉงชิ่ง นครเฉิงตู กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครซีอาน นครกว่างโจว และเรายังเป็นร้านที่มีลูกค้าคนจีนมาเยอะที่สุด
สำหรับการได้เข้ามาร่วมงานเทศกาลไทยที่ สกญ. นครเฉิงตู เป็นผู้จัดนั้น ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ออกงานต่างประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาสัมผัสกับตลาดจีนจริงๆ ที่นครฉงชิ่งนอกเหนือจากที่ร้านใน อ.ปาย ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ ศึกษาตลาด พฤติกรรมการเป็นอยู่ของคนที่นี่ อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองให้กับธุรกิจของตนเอง
จากการที่เข้ามาร่วมงานครั้งนี้ พบว่า ผู้บริโภคในนครฉงชิ่งพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้า กลุ่มลูกค้าของเรากว่า 40% อยู่ในวัยทำงาน ในจำนวนนี้ 80% เป็นสุภาพสตรี ลูกค้าที่นี่ส่วนใหญ่ชอบใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ พูดได้ว่าสินค้าที่เรานำมาขายดีทุกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลิป เครื่องหอม และสบู่
การได้มาออกงานในครั้งนี้ ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ผมจะนำประสบการณ์ในครั้งนี้กลับไปเปิดอีก 1 ร้านที่ไทยเพื่อรองรับลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะ เราจะประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวปายให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเยือนเยอะๆ ควบคู่กับการโปรโมตสินค้าของเรา เพื่อเป็นของฝากของที่ระลึกที่มีคุณภาพจากดินแดน อ.ปาย กลับไป
คุณอุตสาหะ ผาสุขดี ผู้ประกอบการร้านไทยแลนด์ แฮนด์เมด
ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันอโรมาสำหรับสปา สบู่ ครีมทาผิวที่ได้จากการสกัดน้ำมันจากถั่วโมเลกุลเล็กถึง 90% เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์แอนด์เมดประเภทกระเป๋ากระจูดที่ดีไซน์ด้วยตัวเองนำมาแสดง สำหรับงานในครั้งนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันกว่า 5,000 หยวน
คุณอุตสาหะเล่าว่า ปีนี้ปีที่ 3 แล้วที่เข้ามารู้จักกับตลาดจีน หลังจากที่ได้มีโอกาสไปเปิดตลาดที่เมืองสิบสองปันนา นครคุนหมิง นครหนานหนิง นครเฉิงตู นครฮาร์บิ้น นครเจิ้งโจว สำหรับที่นครฉงชิ่งนี้เป็นครั้งแรกที่มาถึง
จากการที่ได้เข้ามาสัมผัสถึงผู้บริโภคชาวนครฉงชิ่ง ทำให้ทราบได้ว่ามีกำลังซื้อ ทว่าต่อรองราคาเก่ง และพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้า (เนื่องจากเป็นเมืองใหญ่มีสินค้าให้เลือกมากมาย) โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นสุภาพสตรีวัยทำงาน การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของคนที่นี่จะสัมผัสจากกลิ่นเป็นอันดับแรก ตามด้วยราคาและปริมาณ หากลูกค้าชอบกลิ่นแล้วยังไงก็ซื้อเรื่องราคาไม่ใช่ปัญหาใหญ่
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคชาวนครฉงชิ่งกับนครเฉิงตูมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน (ต่างจากบางเมืองที่จะตัดสินใจซื้อทันที) สำหรับสินค้าที่ขายดีนั้น ในซีซั่นนี้จะเป็นครีมทาผิว เพราะอากาศย่างเข้าสู่ฤดูหนาว หากเป็นฤดูร้อนนั้น สบู่จะขายดี
คุณนันทนา อรุณรัตนวงศ์ ผู้ประกอบการ บ. พีเอสแอนด์อินเตอร์กรุ๊ป
ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ ครีมรักษาฝ้าสิว ครีมเพิ่มทรวงอก รวมถึงครีมลดเซลลูไลท์สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ (ที่ทำมานานกว่า 16 ปี) ถูกใจผู้บริโภคชาวจีน สำหรับงานนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ 3,000-4,000 หยวน
สำหรับคุณนันทนาแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ในตลาดจีนมากสุดรายหนึ่งที่ได้เดินทางออกงานไปทั่วประเทศจีนมา 8-9 ปีแล้ว แต่สำหรับนครฉงชิ่งนั้น ถือเป็นครั้งแรกของคุณนันทนา
การที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานเทศกาลไทยที่ สกญ.ฯ จัดขึ้นนั้นในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยอย่างเราได้มีโอกาสมาสัมผัสกับตลาดผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเราใช้งานเทศกาลไทยครั้งนี้ประชาสัมพันธ์สินค้าไทยของเราเป็นสำคัญ
คุณนันทนาเล่าต่อว่า สินค้าของเราขายดีเกินคาด ถูกใจกลุ่มลูกค้าวัยทำงานที่มีกำลังซื้ออยู่ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป เห็นได้จากเมื่อซื้อไปแล้ววันต่อไปก็กลับมาซื้อใหม่ ผู้บริโภคที่นี่มีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อ และมีความสามารถในการต่อรองราคา ซึ่งพบว่ามีพฤติกรรมใกล้เคียงกับผู้บริโภคชาวนครเฉิงตู
“หากเจอสถานการณ์เช่นนี้ เราก็จะบอกว่าเรามาเป็นตัวแทนของประเทศไทย นำสินค้าไทยที่มีคุณภาพมาแสดง ต้องการให้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รู้จักของไทยที่ดีๆ และได้ใช้สินค้าไทยของแท้ หากราคาถูกๆ มันก็ด้อยคุณภาพ ซื้อไปเสียเงินโดยไม่เกิดประโยชน์ อาจเกิดผลข้างเคียงตามมา ถ้าเราจะลดราคาให้ ก็เหมือนลดให้ด้วยน้ำใจ เพราะไทยจีนก็เหมือนพี่น้องกัน เป็นเพื่อนบ้านกัน”
การหาตัวแทนจำหน่ายในจีนนั้น คุณนันทนามองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะสินค้าต้องได้รับอนุญาติจากหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องขออนุญาตเครื่องหมายรับรองคุณภาพและความปลอดภัย QS (Quality Safety) ซึ่งคล้ายกับ อย. ของบ้านเราก่อน จึงจะสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไปในตลาดจีน ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก
คุณนันทนาแนะเกล็ดความรู้เรื่องเรื่องการตั้งราคาให้ฟังว่า หากสามารถหาตัวแทนจำหน่ายได้แล้ว การตั้งราคาจะต้องรวมค่าขนส่งและภาษี อาทิ อาจคิดราคาเพิ่มราว 20% รวมกับ VAT 7% และภาษีในจีนอีก 17% โดยประมาณ เป็นต้น
คุณนันทนาฝากไว้ในตอนท้ายว่า อยากบอกว่าเราต้องทำให้ดี เพื่อผู้บริโภคที่นี่จะได้เอาไปเปรียบเทียบกับสินค้าตัวอื่นได้ ก็จะเกิดความเชื่อถือในสินค้าไทย ของเราก็จะมีชื่อเสียง การที่ได้มาร่วมงานเทศกาลไทย สินค้าต้องดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานเสมือนเป็นตัวแทนของประเทศ ขอให้นึกถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย
ตัวอย่างมุมมองจากผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าเครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน
|
คุณอุดม แสนพิศ ผู้ประกอบการศูนย์หัตถกรรมบ้านสันตาเหลือง จ.เชียงราย
ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากไม้แกะสลัก ถาดชงชา ตะเกียบ และเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมีร้านอยู่ที่ จ.เชียงราย การมาร่วมงานเทศกาลไทยครั้งนี้ สามารถทำรายได้ในช่วงวัน 1-3 วันแรกอยู่ที่ราว 5,000 หยวน ส่วนวันต่อมาจนถึงจบงานเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 10,000 หยวน
คุณอุดมเป็นผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์มากรายหนึ่งในตลาดจีน คุณอุดมกล่าวว่า ผมได้เดินทางออกงานในจีนมาหลายแห่ง ทั้งนครคุนหมิง นครกว่างโจว นครเฉิงตู และอื่นๆ สำหรับนครฉงชิ่งนั้นเป็นครั้งแรก การเข้ามาลองตลาดนอกจากความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังต้องคำนึงถึงโลเคชั่นและลักษณะของการจัดงาน
งานเทศกาลไทยครั้งนี้ เป็นงานกลางแจ้ง เราจึงคัดเลือกสินค้าประเภทที่ไม่ใหญ่มากมาแสดง เพื่อความสะดวกของลูกค้าที่สนใจซื้อ สามารถนำกลับบ้านได้อย่างสบาย ราคาจึงกำหนดให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงมากจนถึงปานกลาง แต่หากเป็นการจัดในศูนย์แสดงสินค้าภายในฮอลล์ ก็จะนำสินค้าขนาดกลางถึงใหญ่มาแสดง
ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ส่วนใหญ่ผู้บริโภคที่นี่สนใจซื้องานชิ้นเล็กอย่างเช่นตะเกียบไม้ชุดเซท บ้างซื้อไปใช้เอง บ้างซื้อไปเป็นของฝาก เพราะแพ็คเกจจิ้งเราทำมาดี สวย จึงขายคล่อง ส่วนผู้บริโภคบางรายที่มีกำลังซื้อสูง มีความรู้เรื่องของไม้ สินค้าที่มีราคาสูงถึงชิ้นละ 4,000-5,000 หยวนก็ซื้อ ซึ่งผมยอมรับว่าชาวนครฉงชิ่งจะกล้าซื้อของชิ้นใหญ่กว่าชาวนครเฉิงตู จากที่ผมได้สัมผัสมา
ต้องเข้าใจว่าสินค้าของเรานั้นเป็นสินค้าที่ต้องใช้เวลากว่าที่จะขายออก เพราะคนส่วนมากจะมาสอบถามราคาก่อนและกลับไปพิจารณา วันหลังๆ หรือวันต่อมาจึงค่อยตัดสินใจมาซื้อไป
ตอนนี้ผมวางเป้าหมายเจาะตลาดจีนอย่างเต็มตัว ผลงานที่ผลิตออกมาต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและความต้องการของชาวจีน อาทิ ถาดชงชาไม้แกะสลัก กำลังเป็นที่นิยมในตลาด สนนราคาเริ่มต้นหลักพันหยวนก็ขายได้ อย่างไม้ฉำฉา ราคาจะถูกสุด ส่วนจำพวกไม้สัก ประดู่ ก็จะมีราคาแพง
สำหรับตัวแทนจำหน่ายนั้น ในแต่ละเมืองก็จะมีรายละเอียดการสั่งสินค้าที่ไม่เหมือนกัน อย่างที่นครหนานหนิง ตัวแทนจำหน่ายของเราต้องการสินค้าชิ้นเล็ก ส่วนที่นครกว่างโจวต้องการสินค้าชิ้นใหญ่ เป็นต้น สำหรับในนครฉงชิ่ง เราเพิ่งเริ่มมีออร์เดอร์งานตะเกียบไม้ที่พบกันในงานเทศกาลไทยครั้งนี้ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา
ผู้ประกอบการ บ. ครีเอชั่น เวิร์ล ไวด์ วูด
ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ทำจากไม้มะม่วง อาทิ แจกัน และดอกไม้แห้งจากดอกไม้ธรรมชาติ เช่น ดอกโสน ใบยาง เป็นต้น และส่งขายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก (แต่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในจีน) ภายใต้แบรนด์ “กังวาน” สำหรับงานเทศกาลไทยครั้งนี้ สามารถทำรายได้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 8,000-9,000 หยวน
บ. ครีเอชั่น เวิร์ล ไวด์ วูด ได้เดินทางมาแสดงงานในจีนแล้วหลายเมือง แต่สำหรับนครฉงชิ่งแล้วถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาทดลองตลาด ซึ่งลูกค้าที่มาซื้อของจัดอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน มีกำลังซื้อทว่าโดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคที่นี่ยังไม่รู้จักสินค้าของเราเท่าที่ควร หากเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง คาดในอีก 1-2 ปี น่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
จากการสำรวจพฤจิกรรมผู้บริโภค พบว่า ชาวนครฉงชิ่งค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกซื้อของตกแต่งบ้าน เราต้องมีข้อมูลรายละเอียดที่เป็นภาษาจีนเพื่อตอบขอซักถาม อาทิ ชนิดของไม้ วิธีการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวนครฉงชิ่งชอบงานเพ้นท์สีมากกว่างานเรียบๆ งานถักเชือกไม่เป็นที่นิยม หากลูกค้าชอบ ก็จะซื้อในทันที
ตัวอย่างมุมมองจากผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอาหารไทย ของทานเล่น
|
คุณวนัสนันท์ กนกพัฒนางกูร อาจารย์พิเศษ ภาควิชาอาหารไทย มหาวิทยาลัยการท่องเที่ยวนานาชาติแห่งมณฑลเสฉวน
คุณวนัสนันท์ อาจารย์พิเศษจาก ม.การท่องเที่ยวนานาชาติแห่งมณฑลเสฉวน เปิด “ครัวสาธิต”ภายใต้โครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยยกคณะเชฟไทยมือฉมังและนักศึกษาภาควิชาอาหาไทย เข้าร่วมเผยแพร่และสาธิตการปรุงอาหารไทย (บางตัว) หน้างาน อาทิ แกงกะหรี่ไก่ แกงเขียวหวานไก่ ข้าวมันไก่ สัมตำ หมูปิ้ง ไส้กรอกอีสาน เป็นต้น รวมถึงขนมไทย อาทิ ฝอยทอง สาคูไส้หมู กระทงทอง ขนมหม้อแกงสังขยา ขนมปากหม้อ เป็นต้น ให้ผู้ที่มาชมงานได้เลือก ได้ซื้อ ได้ชิม กันอย่างเอร็ดอร่อย อิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า
คุณวนัสนันทน์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาสาธิตอาหารไทยในงานเทศกาลไทยที่นคนฉงชิ่ง โดยทางสถานกงสุลใหญ่ฯ ให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์อาหารไทยในเขตอาณาอย่างเต็มที่
ก่อนอื่นเราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคชาวนครฉงชิ่งชอบรสชาติอาหารแบบไหน รับรสชาติอาหารไทยแบบไหนได้ นั่นคือขั้นตอนการเลือกอาหารไทยเพื่อนำเสนอภายในงานครั้งนี้
จากการศึกษาพบว่า คนฉงชิ่งรับรสชาติอาหารไทยได้ แต่เรื่องรสเปรี้ยวนั้นจะไม่ค่อยชอบความเปรี้ยวจากมะนาวเหมือนของไทย เขาจะชอบรสเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู (จิกโช่ว) เสียมากกว่ารวมถึงอาหารจะหนักเค็ม เราจึงต้องปรับรสชาติเค็มนำ ตามด้วยเปรี้ยว และสุดท้ายคือหวาน ส่วนรสชาติเผ็ดคนที่นี่ทานได้ แต่บางคนไม่ทาน เราจึงต้องปรับแบบที่รสเผ็ดไม่โดด ชนิดเด็กทานได้ ผู้ใหญ่ทานดี
นอกจากนี้ คนครฉงชิ่งยังนิยมทานอาหารประเภทปิ้งย่าง เราจึงนำเสนอไส้กรอกอีสาน ปรากฎว่าคนที่นี่ชอบมาก ถือเป็นความแปลกใหม่ทางด้านรสชาติ ข้างในเป็นข้าว หมู วุ้นเส้น มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน รวมถึงส้มตำก็เป็นที่นิยม ต่างกับบางเมืองอย่างที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ ไม่ค่อยนิยมรับประทาน ส่วนประเภทขนมหวานไทยนั้น คนฉงชิ่งชื่นชอบมาก ถือได้ว่าสอบผ่านทุกรายการที่นำมาสาธิตถึงขนาดเข้าคิวรอชิมกันเลยทีเดียว
ส่วนเรื่องการเตรียมวัตถุดิบนั้น บางอย่างสั่งตรงจากไทย แต่ส่วนใหญ่จะสั่งมาจากนครกว่างโจว เช่น ใบโหระพา ใบกะเพรา รวมถึงมะละกอดิบ ของสดสามารถหาซื้อได้ตามตลาดทั่วไป
การมาร่วมงานเทศกาลไทยในฐานะตัวแทนของสถาบันอาหารครั้งนี้ ถือว่าประสบผลสำเร็จมาก นอกจากจะสร้างชื่อให้กับทางสถาบันต้นสังกัดและโปรโมตการเรียนการสอนทำอาหารแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์อาหารไทยให้ชาวนครฉงชิ่งรู้จักมากขึ้น รวมถึงนักศึกษาจากภาควิชาอาหารไทย ก็ได้ประสบการณ์ตรง จนสามารถแสดงฝีมือการปรุงอาหารไทยในสถานการณ์ที่มีความพร้อมที่จำกัดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม
คุณนันทวัฒน์ สมาคม ผู้ประกอบการ บ. ยูนนานคุน-ไท่กว่างต้าเทรดดิ้ง
เป็นบริษัทผู้นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องปรุง เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ จากประเทศไทยรวมกว่า 500 รายการ และตัวแทนจำหน่ายหลักของยี่ห้อ “กินรี” นอกจากนี้ ยังมีของกาแฟเขาช่อง ไวตามิ้ลค์ (ในจีนใช้แบรนด์อมิโน) โลโบ้ ไวไว มาม่า รวมถึงผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้กระป๋อง เป็นต้น เรายังมีจำหน่ายใน “Taobao” เว็บไซต์ E-Commerce ยักษ์ใหญ่ที่สุดในจีน โดยการมาร่วมงานเทศกาลไทยในครั้งนี้ สามารถจำหน่ายต่อวันได้มากกว่า 10,000 หยวน ถือว่าประสบความสำเร็จมาก
คุณนันทวัฒน์กล่าวว่า เป็นครังแรกที่เข้ามาร่วมงานไทยที่นครฉงชิ่ง โดยสินค้าที่ตัวที่ขายดีและหมดก่อนใครคือ สินค้าของแบรนด์กินรี ประเภทของทานเล่น ได้แก่ มะพร้าว กล้วยอบเนย ขนมปังยัดไส้ แยมผลไม้ นอกจากนี้ เรายังมีการสาธิตทำต้มยำกุ้ง เพื่อโปรโมตเครื่องต้มยำภายในงาน ปรากฏว่าผู้ที่มาชมงานต่างติดใจในรสชาติเป็นอย่างมากและซื้อติดไม้ติดมือกลับไป บางรายถึงขนาดเหมาเป็นกล่องก็มี
การมาร่วมงานเทศกาลไทยในนครฉงชิ่งก็เหมือนกับการมาทดลองตลาด เราต้องศึกษาถึงพฤติกรรมผู้บริโภคของคนนครฉงชิ่งว่าเป็นอย่างไร เช่น คนที่นี่ติดรสเผ็ดชาที่เรียกว่า “หมาล่า (麻辣)” ซึ่งไม่ใช่เรื่องงานที่เราจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่นี่ให้ชอบในรสที่เราต้องการนำเสนอให้เขา “เราต้องทำแบบน้ำซึมบ่อทราย ค่อยๆ ทำไป แล้วสักวันก็ต้องได้ผล”
ในฐานะที่เราเป็นบริษัทผู้นำเข้าสินค้าไทยสู่จีน จำเป็นต้องมีตัวแทนจำหน่ายที่มีศักยภาพเพื่อกระจายสินค้าของเราไปทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก สำหรับงานเทศกาลครั้งนี้ เราได้มีโอกาสรู้จักบริษัทจีนในนครฉงชิ่งที่ทำธุรกิจด้านค้าส่งสนใจที่จะร่วมมือกับเรา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สูงมาก ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะต้องมีร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าของเราในนครฉงชิ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า ในแต่ละเขตจะต้องมีผู้ดูแล ถือเป็นการบ้านชิ้นสำคัญที่เราต้องกลับไปวิเคราะห์เรื่องการตลาด
นอกจากนี้ ร้านอาหารไทยยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเรา โดยเฉพาะร้านสุกี้หม้อไฟในนครคุนหมิง มีปริมาณการสั่งสินค้าสูงมาก อีกทั้งยังมีร้านอาหารไทยนอกมณฑลยูนนานด้วย ทำให้เราทราบได้ว่า ปัจจุบัน คนจีนยอมรับอาหารไทย รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทย การท่องเที่ยวไทย และอื่นๆ ผสมผสานทุกด้านเข้าด้วยกันก็มีส่วนช่วยผลักดันอาหารไทยและสินค้าไทยให้เป็นที่นิยมได้ในสังคมจีน
สำหรับอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจนำเข้าสินค้าไทยสู่จีนนั้น คุณนันทวัฒน์กล่าวว่า ตลอด 7 ปีของการทำธุรกิจมักจะพบปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้ามาโดยตลอด ทำให้ส่งสินค้าต่อให้ลูกค้าไม่ทัน เราจึงมีการปรับแผนรูปแบบการขนส่งในเส้นทาง R3A จากไทยตรงสู่นครคุนหมิงที่สามารถคำนวณเวลาได้อย่างค่อนข้างแน่นอน เพราะตอนนี้ธุรกิจโตขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้น จนสามารถขนส่งแบบเหมาตู้คอนเท็นเนอร์ (40 ฟุต) เป็นของเราได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการขนส่งจากไทยสู่จีนถึงเดือนละ 12 ตู้
สำหรับการผ่านด่านศุลกากร เราต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย “พูดง่ายๆ คือ ถ้าทำถูกต้อง ก็สามารถขายบนดินได้ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขอฝากผู้ประกอบการไทยอย่ามาร่วมงานเพื่อที่จะมาขายอย่างเดียวและก็กลับไป เพราะหากลูกค้าติดใจในสินค้าของเราก็หาซื้อไม่ได้ ถ้าสินค้าติดตลาด ลูกค้าก็จะเป็นของเราตลอด มันอาจจะยาก แต่ถ้าคุณทำให้มันถูกต้อง ตลาดก็จะเป็นของคุณอย่างถาวร”
คุณโจ๊ก ผู้ประกอบการ บ. J-Hong
J-Hong ผู้นำด้านการถนอมผลไม้ทุกชนิดด้วยการแช่อิ่มจาก อ.หาดใหญ่ โดยคุณโจ๊ก ได้คัดสรรสินค้าเด่นของบริษัทเข้าร่วมแสดงในงานเทศกาลไทยครั้งนี้ ได้แก่ มะม่วงแช่อิ่ม เม็ดมะม่วงแช่อิ่ม กระท้อนแช่อิ่ม รวมถึงผลไม้อบแห้งต่างๆ โดยสามารถจำหน่ายต่อวันได้ประมาณ 2,000 หยวน
สินค้าผลไม้แช่อิ่มทุกรายการภายใต้แบรนด์ J-Hong ของเรามีรสชาติอร่อย กลมกล่อม สำหรับที่ไทยแล้ว ผมขายส่งทั่วประเทศตามออร์เดอร์ของลูกค้าโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มภัตตราคาร ร้านอาหาร รวมถึงขายปลีกให้กับลูกค้าเพื่อซื้อกลับไปเป็นของฝากจากหาดใหญ่ด้วย
สำหรับการมาร่วมออกงานเทศกาลไทยที่นครฉงชิ่งครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสนำสินค้าออกโปรโมตสู่ต่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เรียนรู้ผู้บริโภคที่นี่ที่มีต่อสินค้าของเรา
หลังจากที่ได้ลองตลาดจีนทำให้ทราบว่า “ผลไม้แช่อิ่มของเรายังไม่เป็นที่ถูกปากผู้บริโภคชาวจีนที่นี่เท่าใดนัก รสชาติอาจจะไปใกล้เคียงกับผักดองของจีน และผู้บริโภคที่นี่คิด ว่าสินค้าราคาแพงเกินไป เราจึงจำเป็นต้องปรับราคาลดลงถึงจะขายได้” ซึ่งต่างจากที่ได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนแรก ที่คิดว่าคนเอเชียเหมือนกัน น่ะจะมีความชอบในรสชาติสินค้าของเราเหมือนกัน
รสชาติเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่นี่มาก เราอาจจะต้องปรับปรุงรสชาติผลไม้แช่อิ่มโดยการเพิ่มความเค็มขึ้นอีกนิด เพราะทราบแล้วว่าคนจีนหนักเค็ม ไม่ชอบเปรี้ยว สำหรับคนไทยเราชอบเปรี้ยวอมหวานซึ่งกำลังพอดี แต่คนจีนเขาทานแล้วยังบอกว่าเปรี้ยวเกินไป ส่วนผลไม้อบแห้งที่นำมากลับขายดีเกินกว่าที่คิดไว้
การมาลองตลาดจีนครั้งแรกนี้ได้เรียนรู้เยอะมากครับ ประสบการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ผมต้องปรับปรุงสินค้าและปรับเปลี่ยนรสชาติให้ถูกปากกับคนจีนในแต่ละพื้นที่แต่ละเมืองเมื่อมาขายจริง
คุณนัสกล เจริญสาธิต ผู้ประกอบการ บ. เจริญดีเซิร์ท
ผู้ผลิตอาหารหวานบรรจุประป๋องสำเร็จรูปประเภท ข้าวเหนียวทุเรียน สังขยาทุเรียน ข้าวเหนียวลำใย โอวหนี่แปะก๊วย เป็นต้น ซึ่งสินค้าทั่วไปสามารถเก็บไว้ได้นานอย่างน้อย 1 ปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น หากเป็นข้าวเหนียวทุเรียนกระป๋องเก็บได้ 2 ปี สำหรับยอดขายในงานเทศกาลไทยที่นครฉงชิ่งต่อวันอยู่ที่ประมาณ 3,000 หยวน
สินค้าของผมเข้ามาเปิดตลาดในจีนแล้ว บริษัทเรายังมีโกดังสินค้าอยู่ที่สิบสองปันนาเพื่อทำหน้าที่กระจายสินค้าไปทั่วจีน การมาร่วมงานเทศกาลไทยในครั้งนี้ผมมีวัตถุประสงค์เพื่อมองหาช่องทางขยายตลาดและหาตัวแทนจำหน่ายในจีนเป็นสำคัญ
สินค้าที่ขายดีในงาน ได้แก่ ข้าวเหนียวทุเรียนแบบบรรจุกระป๋องและแบบถ้วย น้ำกะทิทุเรียนพร้อมดื่ม ยังมีผลไม้อบแห้ง เช่น มะม่วงอบแห้ง ก็ขายดีเช่นกัน
เคล็บ (ไม่) ลับเรื่องรสชาติและบรรจุภัณฑ์
คุณนัสกลให้ข้อมูลว่า จะเปิดตลาดจีน สินค้าจะต้องปรับรสชาติให้เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวจีนโดยการ “เน้นมัน เน้นหอม ไม่เน้นหวาน พูดง่ายๆ คนจีนไม่ค่อยนิยมทานหวาน อย่างคนฉงชิ่งกับคนเฉิงตูใกล้เคียงกัน ชอบทานรสเผ็ด ปฏิเสธความหวาน แต่สินค้าของเราเป็นของหวาน เราจึงเน้นรสมันแทน”
หลังจากที่ได้เข้ามาสัมผัสตลาดนครฉงชิ่ง พบว่า คนที่นี่นิยมทานของคาวมากกว่าของหวาน เช่น ต้มยำกุ้ง ที่มีรสออกเผ็ดๆ เปรี้ยวๆ ทว่าสินค้าเราเป็นของหวาน ต้องใช้เวลากว่าผู้บริโภคที่นี่จะยอมรับ เราจึงมุ่งหน้าบุกตลาดจีนตอนใต้ที่มีพฤติกรรมการกินใกล้เคียงกับคนไทย เช่น นครคุนหมิง นครหนานหนิง เป็นต้น
ส่วนเรื่องบรรจุภัณฑ์ ผมมองว่าเรื่องแพ็คเกจมีส่วนช่วยให้สินค้าขายดีมาก ทำให้ลูกค้าสะดุดตาและจำสินค้าของเราได้ แพ็คเกจไม่ใช่แค่สวยเพียงอย่างเดียว ต้องเด่นๆ ใหญ่ๆ ให้ดูแล้วสินค้ามีปริมาณเยอะๆ ต้องคุ้มกับเงินที่เขาต้องมาซื้อ
“อาหารไทยมีครบทุกรสชาติ จึงเหมาะสมกับคนทุกชนชาติ” ผมมองว่าอาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 มีอนาคตในคลาดจีนแน่นอน เพราะคนจีนก็ชอบเที่ยวเมืองไทยมากที่สุด ทั้งเรื่องค่าครองชีพที่ไม่สูง อาหารการกินที่อร่อย การเดินทางโดยเครื่องบินที่สะดวกสบาย หากเราโฟกัสที่เรื่องอาหาร มีโอกาสและอนาคตที่ดีแน่นอนครับ คุณนัสกลกล่าวทิ้งท้าย
จัดทำโดย นายชลพรรษ ตั้งตระการ
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
สถานะล่าสุด วันที่ 30 มกราคม 2556