ประเทศจีนประสบความสำเร็จครั้งแรกในการประดิษฐ์ดวงอาทิตย์เทียม

ประเทศจีนประสบความสำเร็จครั้งแรกในการประดิษฐ์ดวงอาทิตย์เทียม

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 950 view

     เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 หน่วยงาน The Southwest Institute of Physics of Nuclear Industry of China National Nuclear Corporation (CNNC) ได้ทดสอบเครื่องปฏิกรณ์ HL-2M   (ดวงอาทิตย์เทียม) เป็นครั้งแรกที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยเครื่อง HL-2M นับเป็นอุปกรณ์โทคาแมค (Tokamak) ที่ใหญ่ที่สุดในจีนสำหรับการวิจัยทดลองนิวเคลียร์ฟิวชั่นแม่เหล็กขั้นสูง สามารถผลิตปริมาณ พลาสม่าเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ที่มาก่อนหน้านี้ มีความจุกระแสพลาสม่าได้มากกว่า 2.5 Mega Amp ทำอุณหภูมิความร้อนไอออนพลาสม่าสูงถึง 150 ล้านองศาเซลเซียส ถือเป็นนวัตกรรมพลังงานแห่งอนาคตที่จะมาทดแทนพลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและรักษาสิ่งแวดล้อม

     โครงการนี้ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติในปี 2552 โดยเครื่องปฏิกรณ์ (HL-2M) ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชั่นในจีน ช่วยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาด้านฟิสิกส์พลาสม่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น ก่อนหน้านี้ CNNC ยังประสบความสำเร็จในการวิจัยฟิวชั่นแม่เหล็ก รวมถึงได้สร้างอุปกรณ์สนับสนุนด้านการวิจัยนิวเคลียร์ฟิวชั่น 3 เครื่อง ได้แก่ HL-1, HL-1M และ HL-2A จีนวางแผนจะสร้างและเปิดใช้เครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวเต็มประสิทธิภาพภายในปี 2593

     ปัจจุบัน สำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติอยู่ระหว่างการศึกษาเค้าโครงของระบบวิจัยและนวัตกรรมนิวเคลียร์ฟิวชั่นแบบบูรณาการ สร้างแพลตฟอร์มการวิจัยนวัตกรรมนิวเคลียร์ฟิวชั่นระดับประเทศและเวทีการแลกเปลี่ยนจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนาในอนาคต