วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
Cross-Border e-Commerce ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน
จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มรับชำระเงินออนไลน์ทำให้การซื้อของออนไลน์สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไป ประชาชนซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ e-Commerce โดยเฉพาะ Cross-Border e-Commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขนาดตลาดของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนมีมูลค่า 6.05 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 33.48 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด คาดว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 14.6 ล้านล้านหยวน
แหล่งที่มา : Wangjingshe (http://www.100ec.cn/)
จากกราฟข้อมูลสถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558 – 2563 มูลค่าตลาดของ Cross-Border e-Commerce เติบโตอย่างต่อเนื่อง
แหล่งที่มา : Wangjingshe (http://www.100ec.cn/)
ระหว่างปี 2558 – 2563 ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในประเทศจีน หันมาใช้ช่องทาง Cross-Border e-Commerce มากขึ้น โดยในปี 2563 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce คิดเป็นร้อยละ 38.86 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมด คาดว่า ในอนาคตผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเพราะอะไรนั้น บทความนี้จะพาทุกท่านมาร่วมหาคำตอบกันครับ
Cross-Border e-Commerce คืออะไร? แตกต่างจากการนำเข้าแบบทั่วไปอย่างไร ?
Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าที่สะดวก และใช้เอกสารน้อยกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป (General Trade)
ความแตกต่างระหว่าง Cross-Border e-Commerce และการนำเข้าแบบทั่วไป (ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสินค้าประเภทนมผงเด็ก) |
||
รายการ |
Cross-Border e-Commerce |
General Trade |
1. ภาษีศุลกากร |
ยกเว้นภาษีศุลกากร (ไม่ต้องใช้ใบรับรองสถานที่ผลิต) |
เสียภาษีศุลกากรตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 40 (ประเทศในอาเซียนต้องใช้ใบรับรองสถานที่ผลิต Certificate of Origin เพื่อยกเว้นภาษีศุลกากร) |
2. ภาษี |
ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 โดยเสียเพียงร้อยละ 70 ของภาษีฯ เต็ม |
ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13 |
3. วิธีการเก็บภาษี |
สามารถนำเข้าไปยังเขตปลอดอากรของศุลกากร และจะจ่ายภาษีก็ต่อเมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า |
จ่ายภาษีทันทีที่นำเข้า |
4. ใบอนุญาตนำเข้า |
ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า |
จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า |
5. ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า |
ไม่มีข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ ศุลกากรสุ่มตรวจสอบคุณภาพของสินค้า |
ใบพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้าและขาออก (A ⼊境检验检疫B出境检验检疫) ใบรับรองการตรวจสอบสุขอนามัยประเภท R/S (检验检疫类别为R/S) |
6. ช่องทางการจำหน่าย |
จำหน่ายได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม Cross Border E-commerce เท่านั้น |
จำหน่ายได้ทุกช่องทาง ทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน |
7. วิธีการขนส่ง |
ส่งตรงจากต่างประเทศ หรือส่งจากคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ในประเทศจีน |
ส่งจากโกดังสินค้าในจีน |
8. กลุ่มเป้าหมาย |
เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการลองตลาดจีน |
แบรนด์สินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ ผ่านการทำวิจัย ในตลาดจีนแล้ว |
9. ข้อดี |
ประหยัดเวลาในการยื่นขอเอกสารต่าง ๆ ขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละชิ้น เมื่อมีการสั่งซื้อ ป้องกันสินค้าหมดอายุหรือเน่าเสีย หากขายสินค้าไม่ได้ |
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าไปสต็อกไว้ที่โกดังของบริษัทตัวเองในจีนก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะประหยัดกว่าการขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละน้อยชิ้น เมื่อมีการสั่งซื้อ - ส่งของให้ลูกค้าได้รวดเร็วกว่า |
การนำเข้าแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้ลองตลาดจีน ก่อนจะนำสินค้าไปขายจริง เนื่องจากวิธีนี้ช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ หากนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ หมดปัญหาเรื่องสินค้าขายไม่หมด เก็บสต็อกจนหมดอายุ เน่าเสีย ถือเป็นการ “ล้ม” แบบ “เจ็บไม่มาก” และในกรณีที่สินค้าของคุณประสบความสำเร็จในตลาดจีน ในอนาคตสามารถเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าแบบปกติ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว สามารถขยายช่องทางการขายจากแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce สู่ช่องทางออนไลน์อื่น ๆ หรือช่องทางออฟไลน์ เช่น เปิดหน้าร้านเป็นร้านแบรนด์ของตัวเอง หรือนำสินค้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้สินค้าของท่านเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
แพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลจาก iiMedia Research เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่า แพลตฟอร์ม Tmall Global, Kaoka.com, Jingdong International และ Suninginternationnal เป็น 4 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในจีนที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในจีน
แหล่งที่มา : iiMedia Research
แม้ว่า 4 แพลตฟอร์มดังกล่าว จะครองส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างสูง แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีข้อควรคำนึงถึงเช่นกัน โดยเฉพาะ Tmall Global ที่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านสูงมาก (เก็บค่าบริการรายปี 30,000 – 60,000 หยวน และเก็บค่ามัดจำเริ่มต้นตั้งแต่ 50,000 หยวนขึ้นไป โดยคิดตามประเภทสินค้าและประเภทของร้าน) จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทย ที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Pinduoduo, Kuaishou และ Tiktok แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่มีข้อดีคือ มีต้นทุนค่าเปิดร้านไม่สูงมากนัก เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน
รายละเอียดเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม Pinduoduo มาเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งท่านสามารถ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารและขั้นตอนการสมัครได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1dz-ci7VmUl3UcdZqx_KTtA1-qroLjpHa และสามารถรับชมวิดีโอการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Cross-Border e-Commerce ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UC_NgYZoBjI9TqeTFEQPnrEA
โดยท่านสามารถเปิดร้านค้าต่างประเทศ (Cross-Border e-Commerce) บนแพลตฟอร์ม Pinduoduo ได้ฟรี ที่เว็บไซต์ https://ims.pinduoduo.com/overSea
บทส่งท้าย
ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนนั้นช่วยลดจำนวนพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการสามารถกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในจีนได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรต่อชิ้นสินค้าให้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยลดความยุ่งยากในการนำสินค้าเข้าจีน อาทิ การจด FDA และการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง และสินค้าออร์แกนิก ที่การนำเข้าปกติ หรือ General Trading มีระเบียบข้อกำหนดการนำเข้าและมาตรการต้านความปลอดภัยของสินค้าที่เข้มงวดมาก และการนำเข้าผ่านช่องทางปกติจำเป็นต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนการนำเข้า ทำให้เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสทางการค้า
ศุลกากรจีนเผยสถิติในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce มูลค่า 2,172.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 129.8 มูลค่าการเติบโตติดอันดับที่ 4 (รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น) ในยุคที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมหันมาบริโภคสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย ผู้ประกอบการอาจพิจารณาส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce เพื่อลองตลาดจีนก่อนว่าสินค้าของท่านได้รับความนิยมหรือไม่ ซึ่งจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป และยังสามารถช่วยปูทางในการขยายฐานลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมเปิดหน้าร้านในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน/หลักการทั่วไป ท่านควรเลือกบริษัทคู่ค้า/บริษัทขนส่งที่น่าเชื่อถือ และศึกษากฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อกำหนดในแต่ละพื้นที่ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ
ในบทความตอนต่อไป ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จะแนะนำข้อควรระวัง
และการเตรียมตัวก่อนนำสินค้าไปขายในจีนผ่านช่องทาง Cross-Border c-Commerce รวมถึงการสอนวิธีการทำ Marketing และการ Live-streaming ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายและความน่าสนใจให้กับสินค้ามากขึ้น
แหล่งอ้างอิง