Cross-Border e-Commerce ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน

Cross-Border e-Commerce ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,178 view

Cross-Border e-Commerce ทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน

จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู

 

      ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มรับชำระเงินออนไลน์ทำให้การซื้อของออนไลน์สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไป ประชาชนซื้อของออนไลน์มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ e-Commerce โดยเฉพาะ Cross-Border e-Commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

      ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ขนาดตลาดของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจีนมีมูลค่า 6.05 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 33.48 ของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมด คาดว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 14.6 ล้านล้านหยวน

20210906002

แหล่งที่มา : Wangjingshe (http://www.100ec.cn/)

 

จากกราฟข้อมูลสถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2558 – 2563 มูลค่าตลาดของ Cross-Border e-Commerce เติบโตอย่างต่อเนื่อง

20210906003

แหล่งที่มา : Wangjingshe (http://www.100ec.cn/)

      ระหว่างปี 2558 – 2563 ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในประเทศจีน หันมาใช้ช่องทาง Cross-Border e-Commerce มากขึ้น โดยในปี 2563 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce คิดเป็นร้อยละ 38.86 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมด คาดว่า ในอนาคตผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเพราะอะไรนั้น บทความนี้จะพาทุกท่านมาร่วมหาคำตอบกันครับ

 

Cross-Border e-Commerce คืออะไร? แตกต่างจากการนำเข้าแบบทั่วไปอย่างไร ?

      Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษของทางศุลกากร และจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce เท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีการนำเข้าที่สะดวก และใช้เอกสารน้อยกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป (General Trade)

ความแตกต่างระหว่าง Cross-Border e-Commerce และการนำเข้าแบบทั่วไป

(ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสินค้าประเภทนมผงเด็ก)

รายการ

Cross-Border e-Commerce

General Trade

1. ภาษีศุลกากร

ยกเว้นภาษีศุลกากร

(ไม่ต้องใช้ใบรับรองสถานที่ผลิต)

เสียภาษีศุลกากรตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 40

(ประเทศในอาเซียนต้องใช้ใบรับรองสถานที่ผลิต Certificate of Origin เพื่อยกเว้นภาษีศุลกากร)

2. ภาษี

ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13

โดยเสียเพียงร้อยละ 70 ของภาษีฯ เต็ม

ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13

3. วิธีการเก็บภาษี

สามารถนำเข้าไปยังเขตปลอดอากรของศุลกากร และจะจ่ายภาษีก็ต่อเมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า

จ่ายภาษีทันทีที่นำเข้า

4. ใบอนุญาตนำเข้า

ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า

จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า

5. ใบรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า 

ไม่มีข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ

ศุลกากรสุ่มตรวจสอบคุณภาพของสินค้า

ใบพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้าและขาออก

(A ⼊境检验检疫B出境检验检疫)

ใบรับรองการตรวจสอบสุขอนามัยประเภท R/S  (检验检疫类别为R/S)

6. ช่องทางการจำหน่าย

จำหน่ายได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม Cross Border E-commerce เท่านั้น

จำหน่ายได้ทุกช่องทาง ทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน

7. วิธีการขนส่ง

ส่งตรงจากต่างประเทศ หรือส่งจากคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse)

ในประเทศจีน

ส่งจากโกดังสินค้าในจีน

8. กลุ่มเป้าหมาย

เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการลองตลาดจีน

แบรนด์สินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ

มีประสบการณ์ ผ่านการทำวิจัย

ในตลาดจีนแล้ว

9. ข้อดี

ประหยัดเวลาในการยื่นขอเอกสารต่าง ๆ

ขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละชิ้น เมื่อมีการสั่งซื้อ ป้องกันสินค้าหมดอายุหรือเน่าเสีย หากขายสินค้าไม่ได้

- ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าไปสต็อกไว้ที่โกดังของบริษัทตัวเองในจีนก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะประหยัดกว่าการขนส่งตรงจากต่างประเทศทีละน้อยชิ้น

เมื่อมีการสั่งซื้อ

- ส่งของให้ลูกค้าได้รวดเร็วกว่า

      การนำเข้าแบบ Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้ลองตลาดจีน ก่อนจะนำสินค้าไปขายจริง เนื่องจากวิธีนี้ช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ หากนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ หมดปัญหาเรื่องสินค้าขายไม่หมด เก็บสต็อกจนหมดอายุ เน่าเสีย ถือเป็นการ “ล้ม” แบบ “เจ็บไม่มาก” และในกรณีที่สินค้าของคุณประสบความสำเร็จในตลาดจีน ในอนาคตสามารถเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าแบบปกติ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว สามารถขยายช่องทางการขายจากแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce สู่ช่องทางออนไลน์อื่น ๆ หรือช่องทางออฟไลน์ เช่น เปิดหน้าร้านเป็นร้านแบรนด์ของตัวเอง หรือนำสินค้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้สินค้าของท่านเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

แพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce

      ปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ข้อมูลจาก iiMedia Research เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ระบุว่า แพลตฟอร์ม Tmall Global, Kaoka.com, Jingdong International และ Suninginternationnal เป็น 4 แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในจีนที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในจีน

20210906004

แหล่งที่มา : iiMedia Research

      แม้ว่า 4 แพลตฟอร์มดังกล่าว จะครองส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างสูง แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีข้อควรคำนึงถึงเช่นกัน โดยเฉพาะ Tmall Global ที่มีค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านสูงมาก (เก็บค่าบริการรายปี 30,000 – 60,000 หยวน และเก็บค่ามัดจำเริ่มต้นตั้งแต่ 50,000 หยวนขึ้นไป โดยคิดตามประเภทสินค้าและประเภทของร้าน) จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทย ที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก

      ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Pinduoduo, Kuaishou และ Tiktok แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เพิ่งเปิดใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่มีข้อดีคือ มีต้นทุนค่าเปิดร้านไม่สูงมากนัก เหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการลองตลาดจีน

  • Pinduoduo เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าราคาประหยัด มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจคือ เมื่อซื้อสินค้าพร้อมเพื่อน จะได้ราคาที่ประหยัดกว่า เปรียบเสมือนการให้ผู้ซื้อช่วยโฆษณาสินค้าให้ จึงสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ในปี 2563 มีผู้ใช้งานจำนวน 788.4 ล้านคน (ประมาณ 11 เท่าของจำนวนประชากรไทย)
  • Kuaishou และ Tiktok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่สามารถขายสินค้าผ่านการ Live-streaming หรือแนบลิงก์สินค้าไว้กับวิดีโอสั้น เมื่อผู้ชมวิดีโอสั้นถูกใจสินค้าก็สามารถกดลิ้งก์ เพื่อซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจอยากลองตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce ศูนย์ข้อมูลฯ จึงได้นำ

รายละเอียดเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม Pinduoduo มาเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งท่านสามารถ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารและขั้นตอนการสมัครได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1dz-ci7VmUl3UcdZqx_KTtA1-qroLjpHa และสามารถรับชมวิดีโอการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Cross-Border e-Commerce ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้ที่ https://www.youtube.com/channel/UC_NgYZoBjI9TqeTFEQPnrEA

โดยท่านสามารถเปิดร้านค้าต่างประเทศ (Cross-Border e-Commerce) บนแพลตฟอร์ม Pinduoduo ได้ฟรี ที่เว็บไซต์ https://ims.pinduoduo.com/overSea

20210906005

บทส่งท้าย

      ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนนั้นช่วยลดจำนวนพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทาน ผู้ประกอบการสามารถกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคในจีนได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรต่อชิ้นสินค้าให้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังช่วยลดความยุ่งยากในการนำสินค้าเข้าจีน อาทิ การจด FDA และการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารเสริม เครื่องสำอาง และสินค้าออร์แกนิก ที่การนำเข้าปกติ หรือ General Trading มีระเบียบข้อกำหนดการนำเข้าและมาตรการต้านความปลอดภัยของสินค้าที่เข้มงวดมาก และการนำเข้าผ่านช่องทางปกติจำเป็นต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนการนำเข้า ทำให้เสียทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และโอกาสทางการค้า

      ศุลกากรจีนเผยสถิติในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce มูลค่า 2,172.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 129.8 มูลค่าการเติบโตติดอันดับที่ 4 (รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น)  ในยุคที่ผู้บริโภคชาวจีนนิยมหันมาบริโภคสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งสินค้าจากประเทศไทย ผู้ประกอบการอาจพิจารณาส่งออกผ่านช่องทาง Cross-Border e-Commerce เพื่อลองตลาดจีนก่อนว่าสินค้าของท่านได้รับความนิยมหรือไม่ ซึ่งจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายกว่าการนำเข้าแบบทั่วไป และยังสามารถช่วยปูทางในการขยายฐานลูกค้าเพื่อเตรียมพร้อมเปิดหน้าร้านในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลพื้นฐาน/หลักการทั่วไป ท่านควรเลือกบริษัทคู่ค้า/บริษัทขนส่งที่น่าเชื่อถือ และศึกษากฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อกำหนดในแต่ละพื้นที่ก่อนตัดสินใจทำธุรกิจ

      ในบทความตอนต่อไป ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จะแนะนำข้อควรระวัง

และการเตรียมตัวก่อนนำสินค้าไปขายในจีนผ่านช่องทาง Cross-Border c-Commerce รวมถึงการสอนวิธีการทำ Marketing และการ Live-streaming ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายและความน่าสนใจให้กับสินค้ามากขึ้น

แหล่งอ้างอิง

  1. Click China by LERT x China Talk with Pimkwan สองกระบวนท่าหลักในการบุกตลาดจีน (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://www.facebook.com/chinatalkpk/posts/192910669506495
  2. Comnews มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเกิน 6 ล้านล้านหยวนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://baijiahao.baidu.com/s?id=1707160162190576855&wfr=spider&for=pc
  3. Wangjingshe รายงานข้อมูลปี 2020 เกี่ยวกับตลาดอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/467803973_120491808
  4. iiMedia Research ข้อมูลการดำเนินการอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั่วโลก/จีน และรายงานการวิจัยการวิเคราะห์องค์กร (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://www.iimedia.cn/c400/78701.html
  1. Tmall ประกาศค่าใช้จ่าย Tmall Global ปี 2021 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://www.sohu.com/na/452305966_100233806
  2. วิทยาลัยอาชีวศึกษานครเฉิงตู และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู การดำเนินงานของแพลตฟอร์ม Pinduoduo (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://drive.google.com/drive/folders/1dz-ci7VmUl3UcdZqx_KTtA1-qroLjpHa
  3. วิทยาลัยอาชีวศึกษานครเฉิงตู ศุลกากรนครเฉิงตู และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู นโยบายและการปฏิบัติ การควบคุมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของศุลกากรจีน (สืบค้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564) เว็บไซต์ https://drive.google.com/drive/folders/1yf4joANyZDC3Kb5Qjj6e95TbBR6U4EYW