การพัฒนาเมืองสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตูกับการพัฒนาประเทศตาม BCG Model ของไทย

การพัฒนาเมืองสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตูกับการพัฒนาประเทศตาม BCG Model ของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,358 view

 

1_7

เมื่อการพัฒนาเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ของจีนในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม มลภาวะ ความแออัดของประชากร ส่งผลให้จีนพยายามแสวงหาแนวทางเพื่อการพัฒนารูปแบบใหม่ที่มีความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณค่าทางนิเวศวิทยา ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเยือนมณฑลเสฉวนและกล่าวถึงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เมืองสวนสาธารณะ (Park City)” เป็นครั้งแรก โดยชี้ให้เห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เดินตามแนวทางการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาการวางผังเมืองร่วมกันโดยใช้เมืองสวนสาธารณะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการส่งเสริมให้จีนเป็นประเทศที่สวยงาม ทั้งนี้ การพัฒนารูปแบบดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการสร้างสวนสาธารณะในเมืองเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหา “โรคของเมืองขนาดใหญ่” ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเมืองใหญ่ รวมถึงความต้องการในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในเดือนมกราคม 2563 นายสีฯ ได้ยืนยันเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจนในการผลักดันให้นครเฉิงตูกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาตามแนวคิด “Park City Demonstration Zone” หรือเขตสาธิตเมืองสวนสาธารณะ

การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุลตาม BCG Model

การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวคิด “Park City” ของนครเฉิงตู ที่เน้นการพัฒนาเมืองและแหล่งที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวผ่านการนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาปรับใช้ โดยเชื่อว่าประสิทธิผลของการรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ เมือง และ    การดำรงชีพของประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) 

โมเดลเศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลทรัพยากรธรรมชาติกับการสร้างมูลค่า (value creation) หรือกล่าวได้ว่าเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ (1) สาขาเกษตรและอาหาร (2) สาขาพลังงานและวัสดุ (3) สาขาสุขภาพและการแพทย์ และ (4) สาขาการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่การพัฒนา มีการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบมลพิษ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และพลังงานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

 

“นครเฉิงตูกับแผน Park City ที่เป็นรูปธรรม”    

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2563) นครเฉิงตูได้ยืนหยัดในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของนายสีฯ เพื่อเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเมืองที่ยึดหลักการที่มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว มีอารยธรรมทางนิเวศวิทยาที่หลากหลายควบคู่ไปกับการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สร้างแหล่งชุมชนและสวนสาธารณะ และมุ่งมั่นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเปิด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองขนาดใหญ่

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้ประกาศแผนพัฒนาเขตใหม่เทียนฝู่ นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยการจัดตั้งกองทุนพิเศษสำหรับการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วยเงินทุน 2,000 ล้านหยวน และได้รับการอนุมัติให้เป็นเขตสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2557 เพื่อเป็นพื้นที่เปิดสำหรับการลงทุน การสร้างความร่วมมือ การเป็นเมืองทันสมัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พื้นที่ดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนานโยบายข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และรองรับการพัฒนาของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง 2_4  

คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์นครเฉิงตู ได้ตั้งเป้าว่า พื้นที่สาธารณะใหม่จะต้องแล้วเสร็จใจปี 2568 และยกระดับให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ กลายเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อรองรับการพัฒนาแบบ One Growth Pole & Two Centers ของจีน โดยในปี 2578 นครเฉิงตูจะกลายเป็นเมืองสวนสาธารณะสาธิตแห่งใหม่ที่เป็นต้นแบบระดับประเทศและเป็นประตูสู่สากล พร้อมด้วยระบบห่วงโซ่มูลค่าด้านการเงิน การค้า การลงทุน ศูนย์กลางเครือข่ายทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่ครบครัน เพื่อเป็นส่วนช่วยผลักดันบทบาทของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่งในเวทีระดับโลก

จากการที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม The 2nd Park City Forum ณ Western China International Expo City เขตใหม่เทียนฝู่ นครเฉิงตู เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2563 จัดโดยรัฐบาลนครเฉิงตู และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 300 คน ศูนย์ข้อมูลฯ ได้ทราบว่า รัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามมุ่งเน้นการพัฒนาด้านนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีคุณภาพ หลักการสำคัญของการพัฒนาเมืองสวนสาธารณะของนครเฉิงตูคือ การประยุกต์ใช้นโยบายการพัฒนาแบบ Park City + TOD (Transit - Oriented Development) โดยมีสถานีขนส่งมวลชนมากขึ้น เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สำหรับที่ตั้งสำนักงาน ที่พักอาศัย รวมถึงแหล่งช็อปปิ้ง โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีระยะห่างจากสถานีขนส่งมวลชนประมาณ 600 เมตร หรือใช้เวลาเดินระหว่างพื้นที่ดังกล่าวไปยังสถานีขนส่งเพียง 10 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์และพื้นที่สำหรับความบันเทิง เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นครเฉิงตูนับได้ว่าเป็นอีกเมืองที่มีการพัฒนา TOD อย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งในโลก ในช่วงปี 2560 นโยบายการพัฒนาดังกล่าวเริ่มได้รับการผลักดันจากรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ทางการของสำนักงานวางแผนและจัดการทรัพยากรธรรมชาตินครเฉิงตู ได้ประกาศแผนออกแบบเมืองแบบบูรณาการ TOD ที่สำคัญหลายโครงการ โดยโครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญคือ Luxiao Station TOD (陆肖站TOD) จัดอยู่ในโครงการ TOD ชุดแรก ตั้งอยู่บริเวณถนนจงเหอ ในเขตไฮเทคโซน ประกอบด้วย ย่านใจกลางธุรกิจ (Central Business District CBD) ต้าหยวน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก มี Xinchuan Science and Technology Park อยู่ทางทิศใต้ และมีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 6 (กำลังดำเนินการก่อสร้าง) และสาย 22 (แผนการระยะยาว) ที่ห่างจากใจกลาง Luxiao Station TOD (陆肖站TOD) 400 เมตร

การพัฒนาคมนาคมในระบบ TOD ถือเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างระบบการขนส่งสีเขียวเพื่อบรรเทาความแออัดของเมืองและลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างรูปแบบเมืองใหม่ บนพื้นฐานของนวัตกรรมและการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ กล่าวได้ว่า TOD จะเป็นการเติมเต็มระบบการขนส่งสีเขียวที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในระบบขนส่ง เป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Development) และเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของนครเฉิงตู ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล นอกจากนั้น การพัฒนาสีเขียวยังมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาด้านนวัตกรรม การค้า และการเงิน โดยคาดว่าในปี 2565 นครเฉิงตูจะกลายเป็นเมืองชั้นนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงเป็นเมืองที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำในประเทศจีน

 

ความสำเร็จในการพัฒนานิเวศวิทยาและรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยที่การพัฒนาเมืองสาธารณะจะต้องส่งเสริมทั้งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ และคุณค่าทางนิเวศวิทยาด้วย รัฐบาลนครเฉิงตูได้ให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยกำหนด 10 มาตรการการพัฒนาสีเขียวในปี 2559 – 2578 เพื่อพัฒนาโครงการสำคัญ อาทิ เร่งสร้างถนนเทียนฝู่สีเขียว สร้างสวนสาธารณะหลงฉวน ฟื้นฟูพันธุ์พืช ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถัน ลดมลพิษทางอากาศระหว่าง
การก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควบคุมการใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร สุ่มตรวจรถบรรทุก ส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ ดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมมลพิษทางน้ำ ดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมระดับมลพิษของดินในพื้นที่การเกษตร เร่งสร้างโรงบำบัดน้ำเสียและโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย ปลูกป่าให้มีอัตราครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 39.5 ใช้พลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม และลดการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิง เป็นต้น

ปัจจุบัน โครงการสร้างถนนสีเขียวได้สร้างแล้วเสร็จเป็นระยะทาง 4,081 กิโลเมตร โครงการ “สวนสาธารณะร้อยแห่ง” ได้สร้างสำเร็จแล้ว 35 แห่ง ได้มีการปรับปรุงป่าไม้บริเวณภูเขาหลงฉวนแล้ว 66,667,000 ตารางเมตร นับเป็นพื้นที่สีเขียว    ร้อยละ 39.9 รวมถึงมีการจัดวางนวัตกรรมระบบนิเวศแบบใหม่ถึง 14 แห่ง และมีเขตอุตสาหกรรมสีเขียว 66 แห่ง

ความสำเร็จในการควบคุมมลพิษของนครเฉิงตู

เนื่องจากนครเฉิงตูตั้งอยู่บริเวณแอ่งกะทะ ทำให้การระบายอากาศและการกำจัดมลพิษไม่ดีเท่าที่ควร นายจาง เหรินเหอ นักวิชาการประจำ Chinese Academy of Sciences ได้เสนอแนะว่า นครเฉิงตูควรส่งเสริมการหมุนเวียนระบบอากาศผ่านการออกแบบการเพาะปลูกพันธุ์พืช และใช้สายลมในอากาศเป็นตัวกลางในการปรับสภาพอากาศ อาทิ การวางต้นไม้ไว้บนหลังคาอาคารสูง การทาสีขาวบริเวณหลังคา

นอกจากนี้ นครเฉิงตูมีการดำเนินการลดการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณมลพิษทางอากาศในนครเฉิงตูค่อย ๆ ลดลง ดัชนีความร้อนมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส / 14 ชั่วโมง ปริมาณหมอกควันต่อวันระหว่างปี 2556 - 2562 ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น ค่า PM 2.5 ระหว่างปี 2556 – 2562 เฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 11.34 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี (มาตรฐานไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณภาพอากาศของนครเฉิงตูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2562 จำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศดี 287 วันโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 15 วันจากปี 2561 และในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 นครเฉิงตูมีดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI)  คุณภาพเยี่ยม 32 วัน และคุณภาพดี 44 วัน คิดเป็นร้อยละ 82.6 นอกจากนั้น ในปี 2562 คุณภาพน้ำของนครเฉิงตูอยู่ในระดับดีเยี่ยม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90.7 เมื่อเทียบกับปี 2559   

  4_3

3_2

     แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว นครเฉิงตูจะยังคงส่งเสริมการลดคาร์บอนอย่างจริงจังผ่านโครงการ "Carbon Benefit Tianfu" โดยใช้ไฟฟ้าทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน จำแนกขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างครอบคลุม ฯลฯ สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อการวัดปริมาณคาร์บอน ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดคาร์บอนของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป้าหมายในการควบคุมมลพิษของนครเฉิงตูมีความคล้ายคลึงกับของไทย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปสู่การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 การกำจัดขยะและน้ำเสีย การลดโลกร้อน การลดการใช้และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสนับการสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์และสัตว์บนโลก และเป็นพื้นฐานความกินดีอยู่ดีของผู้คนในประเทศ

การสร้างเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการ

นครเฉิงตูได้ร่วมมือกับบริษัท Huawei Technologies Co. , Ltd. ในโครงการ Artificial Intelligence Big Data Center เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการในรูปแบบ One Center and Three Platforms โดย One Center คือ ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับบูรณาการในระดับชาติผ่าน 3 Platforms ได้แก่ (1) City Brain Platform (2) แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ชั้นนำของโลก (E-level) และ (3) แพลตฟอร์มนวัตกรรมการจัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะระดับโลก เพื่อตอบสนองความต้องการในเมืองอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม การบริหารจัดการเมือง และการดำรงชีวิต นอกจากนั้น ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Electronic Science and Technology มณฑลเสฉวน มหาวิทยาลัยเสฉวน และมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong จัดฝึกอบรมบุคลากร นักศึกษา และจัดการศึกษานอกห้องเรียน Huawei ยังได้มีการสร้างระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในนครเฉิงตู รวมไปถึงระบบนิเวศสำหรับฮาร์ดแวร์ คอมพิวเตอร์ และปฏิบัติการฐานข้อมูล เพื่อรักษาความปลอดภัยของห่วงโซ่การผลิตดังกล่าว อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมระบบนิเวศ Kunpeng และห้องปฏิบัติการ Huawei Kunpeng Tianfu ในนครเฉิงตู เพื่อให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ตลอดจนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจต่าง ๆ และการพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมทั้งหมด เชื่อว่าในอนาคต ทุกสิ่งจะเชื่อมเข้าหากันในเมืองอัจฉริยะ เราสามารถรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบของมนุษย์ได้ผ่านการเชื่อมต่อในระบบดิจิทัลหลายแสนล้านครั้งเหล่านี้ ทำให้ทราบข้อมูลต่าง ๆ ที่ส่งผลดีต่อการปกครองและพัฒนาเมือง ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นการประมวลผลรูปแบบใหม่ที่จะเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

 ปัจจุบัน หลายจังหวัดของไทยได้พยายามพัฒนาเมืองอัจฉริยะเช่นกัน อาทิ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ และชลบุรี (เมืองพัทยา) โดยได้นำข้อมูลมหัต นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับโมเดล BCG ในการพัฒนาเมือง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย อาทิ การดำรงชีวิตของผู้คน การป้องกันสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของการปกครอง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การบูรณาการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยโมเดล BCG
เข้าด้วยกันจะช่วยสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ พัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข็มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

 

การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

          แน่นอนว่าการพัฒนารูปแบบเมืองแห่งสวนสาธารณะ จะช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบด้านโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกปักหลักในนครเฉิงตู โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้ชีวิตในเมืองที่เรียบง่าย บนพื้นฐานของการก้าวกระโดดด้านเทคโนโลยีและความมั่งคั่ง เมื่อปลายปี 2563 สำนักงานการก่อสร้างเมืองแห่งสวนสาธารณะนครเฉิงตู ได้วิเคราะห์สถิติการพัฒนารอบด้านในการกลายเป็นเมืองสวนสาธารณะ โดยจากการสำรวจพบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลักในการพัฒนารูปแบบดังกล่าว มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.25 ระบบนิเวศสีเขียวในชุมชนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.13 ผู้ได้รับระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.63 ประชาชนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.38 ผู้คนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.75 อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่พัฒนาแบบสวนสาธารณะของนครเฉิงตูยกระดับขึ้น เนื่องจากมีการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น และผลักดันให้ร้านกาแฟหรือโรงน้ำชาในสวนสาธารณะกลายเป็นแหล่งพักผ่อนและแหล่งเช็คอินแห่งใหม่ ทำให้มีประชาชนทั้งในนครเฉิงตูและต่างเมืองเข้าถึงได้ง่ายและก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่คนในพื้นที่

          ณ สิ้นปี 2563 ระบบนิเวศสีเขียวของนครเฉิงตูเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.63 ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.25 สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.88 เดือนมีนาคม 2564 เขตใหม่เทียนฝู่มีการปรับปรุงรูปแบบเมืองตามแนวคิดเมืองแห่งสาธารณะ โดยปรับลดพื้นที่อุตสาหกรรมจากร้อยละ 27.2 เป็นร้อยละ 20.6 พื้นที่อยู่อาศัยจากร้อยละ 25.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 34.1 และสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวจากร้อยละ 65.7 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70.1 และได้ปรับปรุงถนนและตรอกซอกซอย 2,059 แห่ง ปรับปรุงสนามหญ้า 600 แห่ง สร้างชุมชนสวนสาธารณะ 70 แห่ง โดยตระหนักถึงการผสมผสานรูปแบบสวนสาธารณะและวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นธรรมชาติ

นับได้ว่านครเฉิงตูจะเป็นจุดเริ่มต้นการเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านนิเวศวิทยาและความเป็นอยู่ของประชาชนตามนโยบายและเจตนารมณ์ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้ไว้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

 

บทส่งท้าย

เมืองสวนสาธารณะต้นแบบของนครเฉิงตู ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่ปัจจุบันกำลังเกิดปัญหาโรคของเมืองขนาดใหญ่ มีประชากรแฝงในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหามลภาวะ PM2.5 และปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งแออัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถนำหลักการหรือแนวปฏิบัติของจีนที่เร่งดำเนินการอยู่ทั้งการพัฒนาเมืองสาธารณะ  เศรษฐกิจสีเขียวและเมืองอัจฉริยะ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการพัฒนา BCG Model ของไทย โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชนขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและประเทศไทยให้ก้าวหน้าด้วยการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรม ไปพร้อม ๆ กับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป

นอกจากนั้น โดยที่นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยและจีนมีความสอดคล้องกันในหลายด้าน BCG จึงเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ไทยและจีนสามารถร่วมมือกันเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจและสร้างความสมดุลของการเติบโตที่ยั่งยืนของโลกหลังสถานการ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อีกด้วย

 

แหล่งที่มา
https://smartcitythailand.or.th/

http://www.innovation2030.zju.edu.cn/2020/0424/c21944a2089635/page.htm 

http://www.sc.gov.cn/10462/12771/2021/3/24/42cc13923e694971bb3c0d5b64e3f841.shtml

http://cdbpw.chengdu.gov.cn/

http://www.ce.cn

https://www.sohu.com/a/226835948_776948

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1596135227323660046&wfr=spider&for=pc

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ