ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน : เบื้องหลังความสำเร็จของการขจัดความยากจนในจีน

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน : เบื้องหลังความสำเร็จของการขจัดความยากจนในจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,094 view

จีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนให้หมดสิ้นภายในปี 2563 และเดินหน้าสู่สังคมที่มีความทันสมัยในปี 2578 และเป็นสังคมที่มีความเจริญรุ่งเรืองปานกลาง โดยเป้าหมายดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อปี 2492 ต่อมา ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 เมื่อปี 2555 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดเป้าหมายเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การแสดงเจตนารมย์ทางการเมืองและกำหนดนโยบายระดับประเทศ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและระบุปัญหา ดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาความยากจน และติดตามการประเมินผล จนกระทั่งในเดือนธันวาคม 2562 จีนมีคนยากจนในชนบทลดลงกว่า 98.99 ล้านคน และเหลือคนยากจนเพียง 7 ล้านคน และในเดือนมีนาคม 2563 คนยากจนลดลงเหลือเพียง 5.51 ล้านคน ล่าสุด วันที่ 2 ธันวาคม 2563 สำนักบรรเทาความยากจนแห่งชาติเปิดเผยว่าพื้นที่ยากจนทั้งสิ้น 832 แห่งได้หลุดพ้นจากความยากจนและไม่มีคนยากจนในจีนแล้ว

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศชัยชนะในการขจัดความยากจนของจีน โดยระบุว่า จีนได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ในการต่อสู้กับความยากจน และชี้ว่าความยากจนได้ถูกกำจัดไปแล้วในประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก

การขจัดความยากจนของจีนเน้นหลักการ “สองไร้กังวล สามหลักประกัน” โดยสองไร้กังวล คือ คนยากจนในชนบทจะต้องไร้กังวลเรื่องอาหารและเสื้อผ้า และสามหลักประกัน ได้แก่ การประกันด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ รัฐบาลกลางได้กำหนดเงื่อนไขในการหลุดพ้นจาก “เส้นขีดความยากจน (poverty line)” โดยกำหนดเกณฑ์รายได้ของประชาชน ซึ่งมีการปรับมาตรฐานสูงขึ้นทุกปี ดังนี้

ปี รายได้ (หยวน/ปี)
2557 2,800
2558 2,968
2559 3,146
2560 3,335
2561 3,535
2562 3,747
2563 4,000 

 

เงื่อนไขของการกำหนดให้เป็นอำเภอ/เขตยากจน ได้แก่ (1) มีอัตราของประชาชนที่ยากจนร้อยละ 60 ของอำเภอ/เขต (2) รายได้สุทธิของเกษตรกรโดยเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 30 และ (3) GDP ของพื้นที่เฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 10

เงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับการจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจน ได้แก่ (1) การซื้อบ้าน อาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ในเมือง (2) สมาชิกในครอบครัวครอบครองรถยนต์ เรือโดยสาร เครื่องจักรในการก่อสร้าง และอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ (3) สมาชิกในครอบครัวมีการก่อตั้งบริษัท มีการจัดจ้างพนักงาน เพื่อประกอบกิจกรรมการผลิตหรือธุรกิจ (4) สมาชิกในครอบครัวรับราชการหรือเป็นพนักงานในสถาบันของรัฐ (5) ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ยากจนนานกว่า 1 ปี (6) รายได้บุตรหรือผู้ปกครองตามกฎหมายอยู่ในระดับสูงกว่ามาตรฐานที่จะได้รับการช่วยเหลือ และ (7) คนชรา เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี คนพิการ ผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ผู้ที่ไม่มีรายได้ และผู้ที่ไร้คนดูแล ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล และการฌาปนกิจศพ

ที่ผ่านมา จีนประสบผลสำเร็จในการบรรเทาความยากจนของประเทศด้วยยุทธศาสตร์การแก้อย่างตรงจุด อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านการย้ายถิ่นฐานสำหรับคนยากจน การส่งเสริมด้านการศึกษา การฟื้นฟูพื้นที่และระบบนิเวศ การปรับปรุงระบบสวัสดิการ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จดังกล่าวมิได้เกิดจากการดำเนินงานของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนของภาคเอกชน โดยกล่าวว่า การขจัดความยากจนมิได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของรัฐบาลเท่านั้น แต่องค์กรเอกชนต้องมีส่วนร่วมด้วย ในปี 2563 มีบริษัทเอกชนของจีนกว่า 46,200 แห่งได้ให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านยากจน มูลค่ารวมกว่า 52.7 พันล้านหยวน การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ในเชิงลึกและให้ความช่วยเหลืออย่างยั่งยืน เช่น การประกันการตกงาน ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เห็นได้จากหลายกรณีที่การเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความยากจนของภาคเอกชนสามารถช่วยส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้สำหรับคนยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างกรณีของสายการบิน Spring Airlines ในปี 2563 ได้ทำความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือนของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้คายฟ่าง จัดหลักสูตรการศึกษา 2 ปี ภายใต้โครงการ “บรรลุฝัน บินอยู่บนท้องฟ้า” รับสมัครนักเรียน 18 คนที่เป็นคนยากจนจากเขตปกครองตนเองหงเหอ มณฑลยูนนาน เข้าศึกษาเพื่อประกอบอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยนักเรียนดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นค่าเล่าเรียน 15,000 หยวน ได้รับค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าที่พักและค่าอาหาร หลังจากจบหลักสูตรจะได้บรรจุเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน Spring Airlines

ในปี 2559 บริษัทของไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลงทุนและดำเนินธุรกิจในจีน โดยยึดถือหลักการ 3 ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ “ประโยชน์ต่อประเทศเจ้าของพื้นที่ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท” ได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐจีนในการบรรเทาความยากจน โดยได้ลงนามสัญญาร่วมมือกับอาลีบาบาและแอนท์กรุ๊ปด้านการค้าออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเน้นที่การช่วยเหลือด้านเส้นทางขนส่งสินค้าเกษตรจากชนบทสู่คนเมือง เพิ่มบริการด้านการสนับสนุนทางการเงินเพื่อชนบท นอกจากนั้น ยังได้มีการลงนามร่วมกับรัฐบาลเขตตงชวนในนครคุนหมิง บริษัท Kunming Industrial Development and Investment จำกัด และธนาคารท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งโครงการฟาร์ม ไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัว โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนด้านที่ดิน สาธารณูปโภค และค่าดอกเบี้ยที่เกิดจากรัฐวิสาหกิจท้องถิ่นกู้เงินเพื่อการลงทุนจากธนาคารท้องถิ่น รวบรวมที่ดินของประชาชนในพื้นที่และเจ้าของที่ดินจะได้รับเงินปันผลหลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินแล้ว

ความร่วมมือของรัฐและเอกชนในการขจัดความยากจนในมณฑลเสฉวน

มณฑลเสฉวนได้เริ่มศึกษาและดำเนินการบรรเทาความยากจนตามแนวทางการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี (2554-2558) ฉบับที่ 12 ว่าด้วยการบรรเทาความยากจนจะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คน และก้าวเข้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้ โดยการดำเนินนโยบายในช่วงแรก รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้มีการอัดฉีดเงินทุน รวมถึงปรับมาตรการและนโยบายในการบรรเทาความยากจนสำหรับประชาชน แต่นโยบายส่วนใหญ่เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงคุณภาพชีวิต

ต่อมา รัฐบาลมณฑลเสฉวนได้มีนโยบาย “เมืองที่เจริญช่วยพัฒนาเมือง/พื้นที่ที่มีความยากจน” เช่น นครเฉิงตูจะให้ความช่วยเหลือแก่เขตปกครองตนเองอาป้าและกานจือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของมณฑทล อีกทั้งการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อบรรเทาความยากจน ใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรขององค์กรมาประยุกต์เข้ากับ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ยากจนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

นับตั้งแต่ปี 2558 – 2563 มณฑลเสฉวนได้ระดมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกว่า 61 แห่ง และสถาบันการเงิน 22 แห่ง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ยากจน 65 แห่ง โดยในปี 2563 สามารถช่วยบรรเทาความยากจนได้กว่า 58 แห่ง และคนยากจนกว่า 47,000 คนได้หลุดพ้นจากความยากจน ทั้งในด้านการผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ เช่น ในปี 2563 เครือ Sichuan Tikkalis Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปสัตว์รายใหญ่ของมณฑลเสฉวน ได้ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบจากชื่อเสียงของแบรนด์ เทคโนโลยี การบริหาร การลงทุน จัดตั้งโครงการ “ช่วยเลี้ยงสุกรสำหรับคนยากจน” ในอำเภอสี่เต๋อ เขตเหลียงซาน สามารถผลิตสุกรกว่า 18,000 ตัว จ้างงานประชาชนในพื้นที่กว่า 200 คนมาเป็นแรงงานในการเลี้ยงสุกร โดยนำรายได้ที่ได้จากการผลิตสุกรเฉลี่ย 5 ล้านหยวนมาจัดสรรเงินปันผลประจำปีให้แก่ประชาชนเฉลี่ยคนละ 3,000 หยวน/ปี ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวมีอัตราสูงเกือบเท่ารายได้ต่อปีสำหรับคนยากจนในปี 2563 ที่รัฐบาลกลางกำหนด หรือการผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ยากจน รัฐบาลเขตปกครองตนเองชนชาติ อี๋เหลียงซานได้ลงนามร่วมกับ Sichuan Xinhua Publishing Group และ Sichuan Publishing Group ส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เพื่อสร้างแบรนด์การท่องเที่ยวของเขตฯ และบรรลุผลแบบ win-win

ผู้บริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในเมืองกว่างอัน มณฑลเสฉวน ได้ให้ข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ด้วยว่า ในปี 2563 โครงการเลี้ยงสุกรเพื่อช่วยบรรเทาความยากจนในมณฑลเสฉวนของเครือเจริญโภคภัณฑ์มีลักษณะคล้ายกับที่ได้ดำเนินการในนครคุนหมิง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปยังพื้นที่การเกษตรเพื่อเจรจาเกี่ยวกับการเช่าที่ดินของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนผู้ให้เช่าที่ดินทำกินจะได้รับเงินปันผลเมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินแล้วเช่นกัน ถือเป็นการจ้างแรงงานและช่วยฝึกฝีมือเพื่อการจ้างงานและก่อให้เกิดรายได้ต่อคนในพื้นที่ โดยเป้าหมายนอกเหนือจากผลประกอบการด้านธุรกิจแล้ว เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังได้พยายามช่วยลดความยากจนอย่างยั่งยืนในพื้นที่ด้วย

จากการที่ศูนย์ข้อมูลฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการขจัดความยากจนผ่านการบูรณาการพัฒนาธุรกิจการเกษตร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวที่ Xinjin Tianfu Agricultural Science Park เขตซินจิน และ Moon Village เขตผู่เจียง นครเฉิงตู ได้รับทราบว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินโครงการขจัดความยากจนสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ผ่านการประยุกต์การเกษตรเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประยุกต์ที่อยู่อาศัยให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รวมทั้ง ปรับแปลงเกษตรให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสันทนาการเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่คนในพื้นที่โดยเปิดสำหรับภาคเอกชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ทั้งนี้ จำนวนคนยากจนสะสมของมณฑลเสฉวนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 13 ได้ลดลง ดังนี้

ตารางตัวเลขการบรรเทาความยากจนในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 13
  ยอดสะสม ปี 2559 ปี 2560 ปี 2561 ปี 2562 ปี 2563
ผู้ยากจน (คน) 3,803,000 1,057,000 1,050,000 1,000,000 696,000 0
หมู่บ้านยากจน 11,501 2,350 3,700 3,500 1,951 0
อำเภอยากจน 88 5 16 37 30 0

 

ความร่วมมือของรัฐและเอกชนในการขจัดความยากจนในนครฉงชิ่ง

เมื่อปี 2562 รัฐบาลเทศบาลนครฉงชิ่งได้มีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความยากจนของนครฉงชิ่ง เพื่อแก้ปัญหาด้านการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่พื้นที่ โดยบริษัทจะได้รับเงินสนับสนุนสำหรับการจ้างงานคนยากจน 500 หยวน/คน/เดือน นอกจากนั้น หากบริษัทเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลเทศบาลนครฉงชิ่งรับผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นคนยากจนเข้าทำงานและจ่ายเงินค่าประกันสังคม 1 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสนับสนุน 6,000 หยวน/คน (รัฐบาลจะจัดสรรเงินสนับสนุนดังกล่าวเพียงครั้งเดียว)

บริษัท Jinke Group ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังได้ร่วมมือกับรัฐบาลเทศบาลนครฉงชิ่งในการผลักดันการบรรเทาความยากจนในอำเภอจงอี้ ซึ่งขึ้นชื่อด้านการผลิตน้ำผึ้งและสมุนไพรจีน แต่ขาดแคลนอุปกรณ์การผลิต  บริษัทฯ จึงได้เข้าไปร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านหยวน จัดตั้งโครงการ “สวนผึ้ง” โดยมีการปลูกดอกไม้ เลี้ยงผึ้ง และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนยากจนในชนบทเฉลี่ยครอบครัวละ 3,000 หยวน สร้างงานให้แก่คนยากจนในพื้นที่เกือบ 500,000 คน นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้สร้างที่อยู่อาศัย จัดการระบบน้ำดื่ม และลงทุนอีกกว่า 138 ล้านหยวนในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน การจัดตั้งโครงการดังกล่าวทำให้บริษัท Jinke Group ได้รับรางวัล “เอกชนผู้นำด้านการบรรเทาความยากจน”

นอกจากนี้ บริษัท Bianyu Financial Leasing จำกัด ได้ดำเนินโครงการ “Golden Chicken” ในอำเภอเฟิงตู ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของบริษัทฯ เพื่อช่วยบรรเทาความยากจน โดยการจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ 600,000 ตัว และเลี้ยงไก่ไข่ 2,400,000 ตัว และมีผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 540,000,000 ฟอง/ปี สามารถส่งออกไปจำหน่าย สร้างรายได้รวมกว่า 500 ล้านหยวน/ปี ช่วยส่งเสริมการจ้างงานของคนในพื้นที่ 1,200 คน

อีกหนึ่งวิธีการที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในการยื่นมือเข้าไปช่วยจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับบรรเทาความยากจนของเอกชนในนครฉงชิ่ง คือการจัดจำหน่ายสินค้าการเกษตรที่ผลิตโดยหมู่บ้านยากจนด้วยตู้จำหน่ายสินค้าอัจฉริยะตู้ดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Chongqing Zhongke Ruixing Technology Development และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องอีก 3 แห่ง ซึ่งถือเป็นผู้รับผิดชอบการติดตั้งตู้ในย่านธุรกิจ แหล่งชุมชน หน่วยงานราชการ โรงพยาบาล และโรงเรียนต่าง ๆ อาทิ ในเขตเจียงเป่ย เขตเจียงจิน เขตหย่งชวน ฯลฯ รวบรวมสินค้าเพื่อบรรเทาความยากจนกว่า 832 ชนิด กระจายไปยัง 7 มณฑล 90 เขต/อำเภอ ถือเป็นการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เฉลี่ยจำหน่ายได้ถึง 1,200 หยวน/วัน การติดตั้งตู้ดังกล่าวสามารถทำได้โดยศูนย์รวบรวมข้อมูลหมู่บ้านยากจนและสินค้าที่ต้องการจำหน่าย จากนั้นบริษัทเอกชน/ผู้ที่สนใจติดตั้ง ตู้ดังกล่าวสามารถติดต่อไปยังศูนย์ฯ และดำเนินเรื่องขอติดตั้งได้ ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2563 สำนักงานบรรเทาความยากจนนครฉงชิ่งได้เปิดเผยว่า เป้าหมายในการบรรเทาความยากจนในปี 2563 คือช่วยผู้ยากจนจำนวน 24,000 คนหรือคิดเป็นอัตราความยากจนเพียงร้อยละ 0.12 ที่ยังหลงเหลืออยู่ให้พ้นจากความยากจน ซึ่งต่อมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 คนยากจนจำนวนดังกล่าวก็ได้ถูกปลดออกจากความยากจน โดยมีรายได้เฉลี่ย 6,000 หยวนต่อปี มากกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลกลางกำหนดรายได้ของประชาชนในเงื่อนไขการหลุดพ้นจาก “เส้นขีดความยากจน (poverty line)”

บทสรุป

รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญและมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง โดยการกำหนดนโยบาย ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การย้ายถิ่นฐานสำหรับคนยากจน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของคนยากจนผ่านการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ หากพิจารณาจากรูปแบบการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการขจัดความยากจนของภาคเอกชนในลักษณะ PPP (Public-Private Partnership) จะเห็นได้ว่า การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือดังกล่าวเป็นโมเดลการแก้ปัญหาแบบเจาะจง ตรงจุด และยั่งยืน การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อมสามารถก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ โดยภาคเอกชนเองก็ได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมดังกล่าวทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการ และการช่วยลดความยากจนอย่างยั่งยืนในพื้นที่จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกอบอาชีพของประชาชนและการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอันเกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนด้วย รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณานำโมเดลการขจัดความยากจนแบบ PPP ของจีนไปประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของการบรรเทาความยากจนในไทย โดยกำหนดนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความยากจนและประชาชนมีรายได้ต่ำด้วยการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ยากจน ตลอดจนช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่และยกระดับการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 1 ว่าด้วยการขจัดความยากจนได้

 

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
มีนาคม 2564

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.yjcf360.com/licaijj/786077.htm
http://www.gov.cn/xinwen/2020-11/30/content_5565786.htm
http://www.bijie.gov.cn/bm/bjsscjgj/zl_5127244/rdzt_5127245/fcwqfz/xgwj_5127255/201804/t20180425_5795912.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1622626641733491814&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1660124645474935821&wfr=spider&for=pc
http://www.sc.gov.cn/10462/12771/2020/10/16/c34d9ab7e83a4ed290b1ca80249fdcc6.shtml
http://www.sc.gov.cn/10462/10778/50000679/50000745/2021/2/7/5136634793894d35aaffd05750d0902b.shtm
http://www.sc.gov.cn/10462/10778/10876/2018/1/16/10443089.shtml