ดัชนีชี้วัดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนครฉงชิ่ง ปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ

ดัชนีชี้วัดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนครฉงชิ่ง ปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 7 ของประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 888 view

     เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 CDBD (สถาบันวิจัยข้อมูลแห่งสำนักข่าว Chongqing Daily) ได้เปิดเผยว่า ดัชนีชี้วัดด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนครฉงชิ่งปี 2563 อยู่ในอันดับ 7 ของประเทศ รองจาก 1. นครเซี่ยงไฮ้ 2. กรุงปักกิ่ง 3. มณฑลกวางตุ้ง 4. นครเทียนจิน 5. มณฑลเจียงซู 6. มณฑลเจ้อเจียง ดัชนีชี้วัดดังกล่าวเป็นการสะท้อนคุณภาพการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครฉงชิ่ง ผ่านตัวชี้วัด 5 ประการ ได้แก่ 1. สภาพแวดล้อมนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. การลงทุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3. ผลผลิตด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. การพัฒนาอุตสาหกรรมล้ำสมัย และ 5. บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

     ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแบ่งนครฉงชิ่งเป็น 3 เขต ได้แก่ 1. เขตที่มีดัชนีชี้วัดนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงกว่าร้อยละ 71.73 ได้แก่ เขตหยูเป่ย เขตเจียงเป่ย เขตจิ่วหลงโพ เขตเป่ยเป้ย เขตหนานอ้าน เขตปี้ชาน เขตปาหนาน เขตต้าตู้โข่ว เขตซาผิงป้า เขตหย่งชวน 2. เขตที่มีดัชนีชี้วัดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ระหว่างร้อยละ 30 – 71.73 มีทั้งหมด 18 เขต อาทิ เขตเจียงจิน เขตฝูหลิง เขตหยูจง และ 3. อำเภอที่มีดัชนีชี้วัดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าร้อยละ 30 มีทั้งสิ้น 10 อำเภอ อาทิ อำเภอสีจู้ และ อำเภอหยูนหยาง

      การลงทุนด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนครฉงชิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับปี 2562 รายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของนครฉงชิ่ง 46,957 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.47 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเขตฉางโส้ว เขตเจียงจิน และเขตหนานชวน มีดัชนีการลงทุนนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนยีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

     นอกจากนี้ ในปี 2563 นครฉงชิ่งมีบริษัทอุตสาหกรรมล้ำสมัยเพิ่มขึ้น 673 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,141 แห่ง สัดส่วนของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87.42 (ร้อยละ 69.56 ในปี 2562) มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงกว่า 3,999,700 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเขตถงเหลียง เขตซี่วซาน และเขตหรงชาง มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แหล่งที่มา เว็บไซต์ทางการของรัฐบาลนครฉงชิ่ง (วันที่ 6 มกราคม 2564)

https://www.cq.gov.cn/zwxx/jrcq/202101/t20210106_8737511.html