กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ในเส้นทางรถไฟเฉิงหยู (เฉิงตู - ฉงชิ่ง)

กรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ในเส้นทางรถไฟเฉิงหยู (เฉิงตู - ฉงชิ่ง)

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 630 view

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม2563เวลา 10.30 น.ขบวนรถไฟสายจีน - ยุโรป (เฉิงหยู) ได้ขนส่งสินค้า ได้แก่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและสินค้าอื่นๆจากท่ารถไฟนานาชาตินครเฉิงตูไปยังยุโรป

วงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง (เขตเศรษฐกิจตะวันตกเฉียงใต้ที่ครอบคลุมนครเฉิงตูและมหานครฉงชิ่ง) ได้ร่วมมือกันสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตก พร้อมผลักดันให้รถไฟสายจีน (เฉิงหยู)  – ยุโรป เป็นเส้นทางคมนาคมสู่ยุโรปที่สำคัญของภูมิภาคตะวันตกของจีน ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่มีมูลค่าการขนส่งมากที่สุดและเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งที่สุดระดับประเทศ สิ้นปี 2562 จำนวนการขนส่งโดยรวมของขบวนรถไฟสายนี้มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนการเดินรถไฟทั้งหมดในประเทศ ปัจจุบัน ขบวนรถไฟระหว่างประเทศของจีนที่มุ่งหน้าสู่ยุโรปเปิดให้บริการกว่า 60 เมืองทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ขบวนรถไฟสายจีน (เฉิงหยู) – ยุโรป ที่ดำเนินการโดยนครเฉิงตูและมหานครฉงชิ่งยังคงครองอันดับหนึ่งด้านขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด นอกจากนั้น ท่ารถไฟนานาชาตินครเฉิงตูและท่าเรือว่านโจว มหานครฉงชิ่ง ยังได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายการขนส่งทางน้ำจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออกหลายเส้นทาง และร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการใช้ท่าเรือว่านโจวเป็นท่าเรือทางทิศตะวันออกในการขนส่งสินค้าของขบวนรถไฟระหว่างประเทศนครเฉิงตู

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 คณะกรรมการจัดการศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศมหานครฉงชิ่ง คณะกรรมการบริหารการท่าเรือชิงไป๋เจียงและกรมศุลกากรเขตชิงไป๋เจียง ได้ร่วมกันประชุมเชิงลึกเกี่ยวกับการผลักดันวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง เพื่อดำเนินการความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ ท่าเรือและรถไฟในการขนส่ง การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม การพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนากลไกการผลิต ดังนี้

1.      เชื่อมต่อท่าเรือและท่ารถไฟในการขนส่ง: ร่วมส่งเสริมการดำเนินงานด้านรถไฟและท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงมาตรฐานด้านการตลาด ผลักดันศักยภาพการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่การขนส่งทางภูมิภาคตะวันตกในมหานครฉงชิ่งและศูนย์ธุรกิจการค้าในนครเฉิงตู ให้ความร่วมมือในการขยายช่องทางการขนส่งทางบกและทางทะเลในภูมิภาคตะวันตก ตามหลัก “ยี่ห้อ – กฎระเบียบ – ดำเนินการรวมเป็นหนึ่ง”

2.      ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม: ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าตามแนวเส้นทางการขนส่ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่งกับตลาดในยุโรป เอเชียกลาง รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ ผลักดันการนำเข้าสินค้าชนิดพิเศษ อาทิ การนำเข้ายานพาหนะและเนื้อสัตว์ รวมถึงการสร้างศูนย์รวมและแหล่งกระจายสินค้าแบบมืออาชีพ

3.      ร่วมพัฒนานวัตกรรม: ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ใบรับรองการจัดส่งสินค้า การทำธุรกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลในการค้าระหว่างประเทศ สร้างกลไกความร่วมมือด้านการบริการในแต่ละท่าเรือและเขตการค้าเสรี ปฏิรูปพิธีการด้านศุลกากรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ลดความซับซ้อนของขั้นตอนการดำเนินงาน ลดต้นทุนและสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สะดวกยิ่งขึ้น

4.      ร่วมพัฒนากลไกการผลิต: หารือเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการดูแลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สร้างแพลตฟอร์มสำหรับการให้คำแนะนำการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนสื่อสารและการจัดสรรด้านอุปทาน เพื่อให้รถไฟสายจีน (เฉิงหยู) -  ยุโรปได้รับความสนใจมากขึ้น พัฒนาความสามารถในการจัดหาทรัพยากรของแต่ละองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพด้านพิธีการทางศุลกากร ความรวดเร็วในการขนส่ง ความสามารถในการป้องกันความเสี่ยง ปรับปรุงคุณภาพรถไฟและลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

นครเฉิงตูและมหานครฉงชิ่งจะร่วมกันสร้างระบบการขนส่งระหว่างประเทศทั้งรูปแบบทางบกและทางทะเลที่เชื่อมต่อทั้งภายในและนอกประเทศถือเป็นก้าวแรกในการส่งเสริมการสร้างวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง ท่ารถไฟนานาชาติ นครเฉิงตูและศูนย์โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ มหานครฉงชิ่ง