วันที่นำเข้าข้อมูล 7 เม.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่31 มีนาคม 2563 โรงพยาบาลเฉิงตูจิงตงฟาง (Chengdu BOEHospital) ได้ลงนามร่วมกับบริษัทหัวเหวยอย่างเป็นทางการในข้อตกลงกรอบความร่วมมือด้านการก่อสร้างโรงพยาบาลอัจฉริยะ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสร้างบริการข้อมูลด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์แบบอัจฉริยะที่จะเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหมด
โรงพยาบาลเฉิงตูจิงตงฟาง ตั้งอยู่ที่เขตเฉิงตูเทียนฝู่กั๋วจี้เชิงวู โดยโรงพยาบาลมีความพยายามที่จะสร้างศูนย์การแพทย์ดิจิทัลอันดับหนึ่งและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยจะให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงแบบครบวงจร ซึ่งวางแผนจะเริ่มดำเนินการปลายปี 2563 นี้และหากมีการดำเนินการเสร็จสมบูรณ์จะกลายเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ภายใต้แนวคิด “โรงพยาบาลในยุคที่ 5”(fifth-generation hospital) โรงพยาบาลเฉิงตูจิงตงฟางได้ผสมผสานแนวความคิดในการก่อสร้างรูปแบบโรงพยาบาลอัจริยะ อาทิ การจัดการด้านพลังงานสีเขียว มีระบบสมาร์ทการ์ด มีระบบทางการแพทย์ที่ครบวงจรและทันสมัย เพื่อที่จะสามารถให้บริการและตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและครอบคลุมมากที่สุด
ด้วยปัจจุบันนี้ IoT และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบการตรวจจับ (sensing) คอมพิวเตอร์แบบอัจฉริยะ และ 5G เข้ามามีบทบาทอย่างมากทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกและนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาปรับใช้เพื่อให้ทันต่อโลกในยุคดิจิทัลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับการรักษามากยิ่งขึ้น ในขณะที่หัวเหวยซึ่งเป็นผู้นำทางด้านไอทีชั้นนำของโลกมั่นใจว่าจะสามารถสร้างบริการทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อยกระดับและส่งเสริมการบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุม
"ในปัจจุบันโรงพยาบาลเฉิงตูจิงตงฟางอยู่ระหว่างการพัฒนาด้านข้อมูลสารสนเทศและ กลยุทธ์สำหรับการดำเนินงานสร้างโรงพยาบาลอัจฉริยะโดยสอดคล้องกับแนวความคิดการบริการทางด้านการแพทย์ของหัวเหวย เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเฉิงตูจิงตงฟางระบุว่า ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายจะมีส่วนช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงบวกต่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างแนวโน้มที่ดีต่อการพัฒนาทางการแพทย์และพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศมากยิ่งขึ้น
หลังจากพิธีลงนามทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และอภิปรายด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างเทคโนโลยีการก่อสร้างโรงพยาบาลอัจฉริยะ การรักษาผ่าน AI การใช้โปรแกรมและ 5G สำหรับการตรวจและวินิจฉัยโรค เป็นต้น