ส่องแผนพัฒนาเมืองในปี 2566 ของนครฉงชิ่ง เร่งเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ กระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ตอบสนองยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน

ส่องแผนพัฒนาเมืองในปี 2566 ของนครฉงชิ่ง เร่งเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ กระชับความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ ตอบสนองยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานของจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ม.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ม.ค. 2566

| 152 view

     เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2566 นายหู เหิงหัว นายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง ได้แถลงผลการดำเนินงานที่สำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของนครฉงชิ่งในช่วงปี 2561-2565 และเป้าหมายการทำงานในปี 2566 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนนครฉงชิ่ง สมัยที่ 6 ครั้งที่ 1

     จากแถลงการณ์การพัฒนาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา GDP ของเมืองมีมูลค่า 2.9 ล้านล้านหยวน อัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 5.3 รัฐบาลนครฉงชิ่งมุ่งส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดกว้างทางการค้าเร่งสร้างเสถียรภาพด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมคุณภาพสูงมุ่งสู่ความเป็นสากล ในปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลายด้าน โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ในนครฉงชิ่ง รัฐบาลท้องถิ่นจึงได้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเร่งขยายอุปสงค์ภายในประเทศ และสร้างเสถียรภาพทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศ ดังนี้

     1. เพิ่มอุปสงค์ภายใน รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา มุ่งส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่ง การก่อสร้างเมือง และพลังงาน ปรับปรุงและก่อสร้างทางรถไฟจากใจกลางเมืองกระจายสู่เมือง/เขตโดยรอบ มุ่งพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เร่งพัฒนายกระดับย่านธุรกิจที่มีชื่อเสียง ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ

     2. พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต เร่งสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของยานพาหนะเชื้อเพลิงไปสู่พลังงานระดับสูง อัจฉริยะ และพลังงานใหม่ เร่งก่อสร้างศูนย์กลางการเงินภาคตะวันตกและศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างประเทศภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล การประมวลผลขั้นสูง และเทคโนโลยีบล็อกเชน

     3. ปฏิรูปอุตสาหกรรมเป้าหมาย จัดระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจ ปกป้องสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนและผลประโยชน์ของผู้ประกอบการตามกฎหมาย ปฏิรูปราคาทรัพยากรพลังงาน อาทิ ไฟฟ้าและน้ำประปาในเมือง ส่งเสริมการสร้างเมืองนำร่องด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เร่งพัฒนาสถานศึกษา สถานพยาบาล ชุมชน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่มีความเป็นนานาชาติเพื่อปรับสภาพแวดล้อม เตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุน

     4. พัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนการรวบรวมผู้มีความสามารถระดับสูง สนับสนุนมหาวิทยาลัยสถาบันวิจัย และองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษ ยกระดับและปรับปรุงคุณภาพของศูนย์นวัตกรรม อาทิ เมืองวิทยาศาสตร์ตะวันตก (ฉงชิ่ง) เขตนวัตกรรมความร่วมมือเหลี่ยงเจียง เร่งสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ ห้องปฏิบัติการ Chongqing Golden Phoenix (เฟส 2) และ Chinese Academy of Sciences Chongqing Science Center เป็นต้น

     5. ส่งเสริมการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง ส่งเสริมโครงการสำคัญร่วมกัน อาทิ รถไฟความเร็วสูงสายกลางเฉิงตู-ฉงชิ่ง รถไฟความเร็วสูงฉงชิ่งตะวันตก ร่วมกันพัฒนายานพาหนะพลังงานใหม่บนเครือข่ายอัจฉริยะ ดำเนินการตามนโยบายสนับสนุน อาทิ China-Europe Express (Chengdu) ศูนย์วิทยาศาสตร์ครบวงจรเฉิงตู-ฉงชิ่ง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเมืองโดยอาศัยรถไฟความเร็วสูงเฉิงตู – ฉงชิ่ง เส้นทางรถไฟฉงชิ่ง-ซุ่ยหนิง เป็นต้น

     6. ส่งเสริมการเปิดกว้าง เร่งสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบก-ทางทะเลแห่งภาคตะวันตกสายใหม่ เพิ่มจำนวนรถไฟขนส่งแบบเรือ+ราง เสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางการขนส่ง ILSTC เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป เส้นทางขนส่งทางน้ำสายทองคำ (แม่น้ำแยงซี) และเครือข่ายการบินระหว่างประเทศ กระชับความร่วมมือโครงการความเชื่อมโยงระหว่างจีน-สิงคโปร์ ส่งเสริมเขตนำร่องการค้าเสรีฉงชิ่ง เร่งสร้างเขตสาธิตความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เสริมสร้างการค้าระหว่างประเทศของเขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียง เขตไฮเทคโซนฉงชิ่ง ขยายระบบ Single Window สำหรับการค้าต่างประเทศ ขยายการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ และเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน (ฉงชิ่ง) ประจำปี 2566

     7. ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพในหมู่บ้านยากจนและการจ้างงานสำหรับผู้ยากไร้ ขยายอุตสาหกรรมการแปรรูปและหมุนเวียนสินค้าเกษตร มุ่งมั่นพัฒนาอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวในชนบท เร่งปรับปรุงโรงเก็บสินค้าเกษตรและโลจิสติกส์โซ่ความเย็น การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล ปรับปรุงระบบสนับสนุนและคุ้มครองการเกษตร 

     8. พัฒนาสภาพแวดล้อมของเมือง พัฒนาอุตสาหกรรมบริการด้วยการดึงดูดองค์ประกอบระดับไฮเอนด์มากขึ้น อาทิ ผู้มีความสามารถระดับนานาชาติ ย่านธุรกิจ การสร้างจุดชมวิวทางวัฒนธรรม เพิ่มพื้นที่พักผ่อนสาธารณะในเมือง ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเมือง ดำเนินโครงการสาธิตนำร่องการฟื้นฟูเมือง 112 แห่ง เริ่มปรับปรุงความปลอดภัยของถนน สะพาน และอุโมงค์ในเมือง ส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ การสร้างชุมชนอัจฉริยะ

     9. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเมือง ดำเนินตามกฎ "ห้ามจับปลาสิบปี" ในลุ่มแม่น้ำแยงซีอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมการป้องกันและควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อม (การจราจร ฝุ่นละออง อุตสาหกรรม) เพิ่มการตรวจสอบและแก้ไขทางระบายน้ำเสียของแม่น้ำแยงซี ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการสร้างฐานการรีไซเคิลทรัพยากรและของเสีย

     10. ตอบสนองความต้องการของประชาชน ดำเนินโครงการชั้นวางหนังสือ(ชุมชน) สร้างเขตสาธิตการพัฒนาเมืองและชนบทแบบบูรณาการ ดำเนินโครงการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ สนับสนุนการสร้างโครงการนำร่องการท่องเที่ยวระหว่างประเทศอู่หลง เร่งสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบาชู สร้างฐานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างประเทศ สร้างเวทีแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม อาทิ "Chongqing Culture Week"

     11. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคร้ายแรงระดับเมือง เร่งการฉีดวัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะอาชีพ ขยายช่องทางการจ้างงานสำหรับกลุ่มเฉพาะ อาทิ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัย แรงงานข้ามชาติ ดำเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเก่าในเมือง 2,069 แห่ง ดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่สีเขียวริมถนน 100 สาย สร้างถนนสีเขียว 100 กิโลเมตร สร้างสนามกีฬาสาธารณะในเมือง 10 แห่ง จัดวัคซีน HPV ฟรีสำหรับนักเรียนหญิง 180,000 คน

50d7d7ca57f59e26cb40cc6820f013f

     แผนการพัฒนาเมืองของนครฉงชิ่งยังคงมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การขยายอุปสงค์ภายในประเทศและการสร้างเสถียรภาพทางการค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศยังคงเป็นแนวทางหลักในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีนยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน

     แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นครฉงชิ่งจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายด้าน แต่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นขยายตลาดในต่างประเทศอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการขยายตลาดการค้าและขยายเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตกได้รับการยกระดับเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และมีเครือข่ายการขนส่งครอบคลุมท่าเรือกว่า 393 แห่ง ใน 119 ประเทศ/ภูมิภาคทั่วโลก สิ่งที่น่าจับตามองคือ ความพยายามเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งระหว่างเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก รถไฟจีน-ยุโรป เส้นทางขนส่งทางน้ำสายทองคำ (แม่น้ำแยงซี) และเครือข่ายการบินระหว่างประเทศของนครฉงชิ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคจีนตะวันตก และนี่อาจเป็นโอกาสสำคัญในการขยายเส้นทางการขนส่งสินค้าของไทยผ่านเส้นทางการขนส่งที่สามารถเชื่อมผ่านประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านจีน และกระจายต่อไปยังยุโรปได้ในอนาคต

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การประชุมสภาผู้แทนประชาชนนครฉงชิ่งสมัยที่ 6 ครั้งที่ 1