วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
ท่ามกลางบริบทการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วอย่างก้าวกระโดดในจีน ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติอย่างรวดเร็ว การรวมกลุ่มเมืองให้เกิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือที่เรียกกันว่า “เขตวงกลมเศรษฐกิจ” การก่อสร้างเขตดังกล่าวพิจารณาจากนครหรือเมืองขนาดใหญ่ที่มีบทบาทต่อ GDP โดยรวมของประเทศและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ
ปัจจุบัน การขยายตัวของเมืองในจีนมีอัตราสูงถึงร้อยละ 60 เมืองต่าง ๆ กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่
การเป็นมหานคร รวมทั้งเกิดการรวมตัวกันของเมืองใหญ่หลายแห่ง โดยเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ด้วย หลายปีที่ผ่านมา จีนได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาเมืองในระบบ “1+4+6+7” โดย “1” คือการสร้างนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “4” คือการพัฒนาใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคอีสาน “6” คือยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 6 เขตพื้นที่ ได้แก่
(1) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (2) เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย (3) เขตเศรษฐกิจ
อ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (4) เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง (5) แผนพัฒนาและปกป้องระบบนิเวศ
ลุ่มแม่น้ำฮวงโห และ (6) ยุทธศาสตร์การบูรณาการแบบสามเหลี่ยม “7” คือ พื้นที่พิเศษ 7 ประเภท ได้แก่ (1) ปฏิรูปพื้นที่เก่า (2) พื้นที่ชนกลุ่มน้อย (3) เขตชายแดน (4) เขตยากจน (5) พื้นที่ระบบนิเวศเสื่อมโทรม (6) พื้นที่แห้งแล้ง และ (7) ฐานอุตสาหกรรมล้าสมัย
เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง
คณะกรรมการพรรคฯ มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในการผลักดันการรวมตัวกันของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกในอนาคต รวมทั้งเป็นส่วนส่งเสริมการพัฒนาเมืองใหม่โดยรอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมปฏิรูปทั้งด้านการพัฒนาและความมั่นคง ลดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็งในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งวางรากฐานการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กลยุทธ์การพัฒนาของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง ที่สำคัญแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ (1) เดือนธันวาคม 2550 คณะกรรมการพรรคฯ มณฑลเสฉวน ได้ออกกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และศักยภาพมนุษย์ (2) เดือนพฤษภาคม 2556 ยุทธศาสตร์การพัฒนาของมณฑลเสฉวนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเพียงหนึ่งเมือง เป็นการพัฒนาเขตและการพัฒนาร่วมระหว่างสองมณฑล ส่งผลให้ (3) ในเดือนมิถุนายน 2561 ได้ออกนโยบายผลักดันการพัฒนาแบบเมืองหลักกระจายความเจริญสู่เมืองโดยรอบ (一干多支) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดแนวคิดการก่อสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง วิวัฒนาการการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู –
ฉงชิ่ง แบ่งโดยสังเขปได้ดังนี้
เดือนเมษายน 2561 รัฐบาลได้มีการอนุมัติใช้แผนการพัฒนาเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง จากนั้น
ในเดือนกรกฎาคม 2562 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้รายงานและแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญในการสร้างเขตพัฒนากลุ่มเมืองเฉิงตู – ฉงชิ่ง แก่รัฐบาลจีน ในเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจีนได้ส่งผู้แทนมาสำรวจและวิจัยพื้นที่ในมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง และในวันที่ 3 มกราคม 2563 ในห้วงการประชุมของคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินจีน ครั้งที่ 6 ได้มีการลงนามการจัดตั้งเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนา 6 ด้าน ได้แก่ (1) การขนส่ง (2) การท่องเที่ยว (3) เกษตรกรรม (4) ความปลอดภัย (5) วัฒนธรรม และ (6) วิทยุโทรทัศน์ เนื่องจากมณฑลเสฉวนเป็นพื้นที่เหมาะแก่การค้าระบบหมุนเวียนและมีศักยภาพในการลงทุนด้านอุปโภคและบริโภค มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการด้านเศรษฐกิจของประเทศหลายโครงการ อาทิ (1) นโยบายข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง ซึ่งมณฑลเสฉวนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร การสร้างความร่วมมือด้านการค้ากับต่างประเทศ และการสร้างความร่วมมือด้านมานุษยวิทยา (2) เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำแยงซี มณฑลเสฉวนจะพัฒนาระบบนิเวศสีเขียว สร้างศูนย์กลางการเชื่อมต่อสาธารณูปโภค พัฒนาพลังงานใหม่ และผลักดันการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และ (3) นโยบายการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก ทั้งนครฉงชิ่งและนครเฉิงตูเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่น อุตสาหกรรมมีการกระจุกตัวอยู่มากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของจีน มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว ภูมิประเทศค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเปิดประเทศ นอกจากนั้น ทั้งสองพื้นที่ยังมีความเกื้อกูลกันด้านเศรษฐกิจ โดยนครเฉิงตูมีข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยี การค้า และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเมืองเล็ก ๆ โดยรอบ ส่วนนครฉงชิ่งมีข้อได้เปรียบด้านการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ สามารถผลักดันให้เป็นตลาดการค้าแห่งใหม่และขนาดใหญ่ของประเทศได้
แนวทางการพัฒนาเมืองศูนย์กลางของเขตวงกลมเศรษฐกิจอย่างนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งจะมีลักษณะพิเศษต่างกัน นครเฉิงตูจะให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองแห่งสวนสาธารณะสาธิต พัฒนาระบบอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่และระบบการปกครอง สร้างศูนย์กลางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งสร้างเมืองแห่งศูนย์กลางทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ส่วนนครฉงชิ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมนิยมรูปแบบใหม่ สร้างเมืองที่มีความเป็นสากล เมืองสีเขียว เมืองอัจฉริยะ และเมืองแห่งวัฒนธรรมมนุษย์ นอกจากนั้น จะผลักดันให้เป็นฐานการผลิตแห่งชาติ สร้างศูนย์กลางการลงทุนจากต่างชาติ และสร้างศูนย์กลางการคมนาคมระดับนานาชาติด้วย
เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีประชากรโดยรวมจำนวนกว่า 1.1 ร้อยล้านคน GDP ของนครฉงชิ่งปี 2562 มากกว่า 2.36 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 6.3 และ GDP ของนครเฉิงตูมากกว่า 1.70 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีพื้นที่รวมกว่า 18.5 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 27 เขตในนครฉงชิ่งและ 15 เมืองในมณฑลเสฉวน รูปแบบพื้นที่ของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีนครเฉิงตูและนคร ฉงชิ่งเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางกระจายการพัฒนาสู่เขตและเมืองอื่น ๆ ได้แก่
(1) เขตเศรษฐกิจเฉิงตู ผลักดันการพัฒนาสู่ฐานเทคโนโลยีล้ำสมัย ฐานประกอบอุปกรณ์อัจริยะ แหล่งท่องเที่ยว ศูนย์ให้บริการล้ำสมัยที่ครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจและเมืองล้ำสมัย
(2) เขตเศรษฐกิจเสฉวนตอนใต้ ได้แก่ เมืองจื้อกง เมืองหลูโจว เมืองเน่ยเจียง และเมืองอี๋ปิน พัฒนาการผลิตเหล้าขาว สร้างความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจทางทิศตะวันตกของนครฉงชิ่ง สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจร่วมกับมณฑล ยูนนานและมณฑลกุ้ยโจว และทำหน้าที่เป็นปีกทางทิศใต้ที่สำคัญในการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง
(3) เขตเศรษฐกิจเสฉวนตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมืองหนานชง เมืองต๋าโจว เมืองกว่างอัน เมืองกว่างหยวน และเมืองปาจง เน้นการพัฒนาระบบพลังงานสะอาด รักษาระบบนิเวศ และเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสีแดง นอกจากนั้น สร้างศูนย์กลางการขนส่งจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก พัฒนาร่วมกับมณฑลส่านซีและมณฑลกานซู และทำหน้าที่เป็นปีกทางทิศเหนือที่สำคัญในการพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง
(4) เขตเศรษฐกิจพานซี ได้แก่ เมืองพานจือฮวาและเขตปกครองตนเองชนชาติอี๋ เหลียงซาน ทำหน้าที่สร้างเขตสาธิตการพัฒนานวัตกรรมด้านทรัพยากรเชิงกลยุทธ์ ฐานสาธิตการเกษตรรูปแบบใหม่ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งพลังงานสะอาดของประเทศ
(5) เขตสาธิตระบบนิเวศในเสฉวนตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ เขตปกครองตนเองอาป้าและเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบตกานจือ ทำหน้าที่เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมระดับนานาชาติ แหล่งพลังงานสะอาดและฐานเกษตรกรรมและการปศุสัตว์รูบแบบใหม่
การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง มีการบริหารแบบสองศูนย์เพื่อพัฒนาเป็น (1) ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ สร้างศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในระดับมณฑล ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ สร้างศูนย์อุปโภคบริโภคระดับนานาชาติ และสร้างฐานข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล และ (2) ศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีอิทธิพลระดับประเทศ สร้างเมืองวิทยาศาสตร์แห่งภูมิภาคตะวันตกที่นครเฉิงตู และสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ระดับประเทศที่เมืองเหมียนหยาง นอกจากนั้น เขตวงกลมเศรษฐกิจดังกล่าวจะผลักดันการพัฒนาการเปิดสู่ภายนอก สร้างเขตสาธิตด้านนวัตกรรม เขตลงทุนการค้าระดับนานาชาติสำหรับภูมิภาคตะวันตก สร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ ร่วมสร้างศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับประเทศในนโยบาย “ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง” สร้างองค์กรเพื่อกำกับดูแลสำนักงานการต่างประเทศและสำนักงานกงสุล รวมทั้งมุ่งมั่นเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมด้านการทูตและการประชุมระดับนานาชาติที่สำคัญ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน และทัศนีย์ภาพของเมืองที่งดงามด้วย
ทิศทางการพัฒนาโครงการสำคัญในเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจเพื่อไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง โดยทิศทางการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลมณฑล เสฉวนและนครฉงชิ่งให้ความสำคัญมีดังนี้
ปัจจุบัน เขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญที่มีผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP ของจีน ได้แก่ (1) เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า คิดเป็นร้อยละ 12 ของ GDP ในประเทศจีน ถือเป็นเขตเศรษฐกิจอ่าวที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก (2) เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ประกอบด้วย 3 มณฑล และ 1 เมือง รวมจำนวนทั้งสิ้น 34 เมือง คิดเป็นอัตราร้อยละ 24 ของ GDP ในประเทศจีน (3) เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง – เทียนจิน – เหอเป่ย คิดเป็นร้อยละ 8 ของ GDP ในประเทศจีน (4) เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง คิดเป็นร้อยละ 7 ของ GDP ในประเทศจีน และ (5) เขตเศรษฐกิจอื่นที่มีอัตรา GDP รวมคิดเป็นร้อยละ 49 ของประเทศจีน
ตารางเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจระหว่างเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง กับเขตอื่น ๆ
เขตเศรษฐกิจ |
เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า |
เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี |
เขตเศรษฐกิจปักกิ่ง เทียนจิน เหอเป่ย |
เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง |
GDP (ร้อยล้านหยวน) |
11.3 |
23.7 |
8.5 |
7.0 |
เนื้อที่ (ตร.กม.) |
5.6 |
35.8 |
21.6 |
18.5 |
ประชากร (ร้อยล้าน) |
0.73 |
2.27 |
1.1 |
1.1 |
GDP/หัวประชากร |
158,900 |
14,667 |
76,576 |
62,588 |
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจเพื่อไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูคาดว่า เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างวงกลมเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากเขตดังกล่าวยังมีการพัฒนาในระดับต่ำกว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจอื่นของจีน มีช่องว่างในการพัฒนาและยังมีตลาดการค้าในพื้นที่ที่ห่างไกลจากทะเลด้วย ต่างจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจอื่นที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณอ่าว นอกจากนั้น มณฑลเสฉวนเป็นพื้นที่เหมาะแก่การค้าระบบหมุนเวียนและเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการลงทุนด้านอุปโภคและบริโภค สามารถผลักดันให้เป็นตลาดการค้าแห่งใหม่และขนาดใหญ่ของประเทศได้ การผลักดันการก่อสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู – ฉงชิ่ง จะทำให้ภูมิภาคตะวันตกของจีนได้แสดงศักยภาพแก่ภายนอก ผลักดันการพัฒนาร่วมกับพื้นที่ในเขตลุ่มแม่น้ำหรือตามแนวอ่าว สร้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมในระดับประเทศ และส่งเสริมการหลอมรวมเข้ากับระบบอุปโภคและบริโภคของโลก นอกจากด้านเศรษฐกิจการค้าแล้ว วงกลมเขตเศรษฐกิจเฉิงตู - ฉงชิ่ง ยังผลักดันการท่องเที่ยวและระบบนิเวศสีเขียว รวมทั้งสร้างเมืองสาธารณะสีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย
แหล่งอ้างอิง (ข้อมูล)
แหล่งอ้างอิง (ภาพ)