มหานครฉงชิ่งกับการเป็นศูนย์กลางของรถไฟสายจีน – ยุโรป

มหานครฉงชิ่งกับการเป็นศูนย์กลางของรถไฟสายจีน – ยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 787 view

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้ประกาศสนับสนุนการสร้างโครงการนำร่องศูนย์การรถไฟสายจีน - ยุโรป ใน 5 เมืองทั่วประเทศรวมถึงมหานครฉงชิ่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มหานครฉงชิ่งได้รับการอนุมัติให้เป็นพื้นที่ก่อตั้งโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นหนึ่งในศูนย์การขนส่งระดับประเทศ อีกทั้งคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติได้จัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการนำร่องศูนย์การรถไฟสายจีน – ยุโรปในมหานครฉงชิ่งด้วย

อีกปัจจัยสำคัญในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวที่มหานครฉงชิ่ง มาจากการที่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน  ได้มีการพิจารณาตัดสินรูปแบบการเรียกเก็บเงินใบตราส่งสินค้าทางรถไฟที่ศาลประชาชนเขตเหลี่ยงเจียงใหม่ มหานครฉงชิ่ง โดยนายหู หงปิง รองผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่ามหานครฉงชิ่ง ระบุว่า การพิจารณานี้ช่วยให้มีกฎรองรับข้อพิพาททั้งหมดที่อาจเกิดในอนาคต และสร้างความมั่นใจในการตรวจใบตราส่งสินค้าสำหรับการขนส่งมากยิ่งขึ้น  นอกจากนั้น นายกู๋ หย่งหง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Chongqing International Logistics Hub Company จำกัด ระบุว่า เมื่อรถไฟสายจีน – ยุโรป และการก่อสร้างเขตการค้าเสรีนำร่องของมหานครฉงชิ่งดำเนินการสำเร็จ มหานครฉงชิ่งจะเริ่มพัฒนารูปแบบการใช้ใบตราส่งสินค้าทางรถไฟเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มีจำนวนมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ใบตราส่งสินค้าไม่ได้เป็นเพียงการขับเคลื่อนนวัตกรรมของมหานครฉงชิ่งและรถไฟสายจีน – ยุโรป (หยูซินโอว) เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนช่วยสร้างมาตรฐานในการพัฒนาการก่อสร้างรถไฟสายจีน – ยุโรปด้วย

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ได้มีการเปิดตัวรถไฟพิเศษที่ขนส่งไปยังเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการีโดยตรง มหานครฉงชิ่งได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการระหว่างขนส่ง แก้ไขปัญหาที่เกิดระหว่างการขนส่งทันที และปรับแผนการพัฒนาจากการเน้นปริมาณมาสู่การเน้นคุณภาพ จากสถิติของ China Railway Group แสดงให้เห็นว่า เมื่อปี 2562 รถไฟสายจีน – ยุโรป (หยูซินโอว) ได้มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์กว่า 1,500 ตู้ มูลค่ากว่า 50,000 ล้านหยวน จัดอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2563 รถไฟสายดังกล่าวมีการขนส่งกว่า 870 ขบวน มูลค่ารวมกว่า 37,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ต่อมาในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการขนส่งแล้วกว่า 400 ขบวน ถือเป็นการขนส่งเฉลี่ย 200 ขบวน/เดือนเป็นครั้งแรก นับว่ามหานครฉงชิ่งได้ประสบความสำเร็จในฐานะผู้ให้บริการด้านการขนส่งที่สำคัญของประเทศ ครองอันดับ 1 ใน 3 ของการขนส่งระหว่างประเทศของจีน โดยเฉพาะการขนส่งพัสดุระหว่างจีน - ยุโรป

คาดว่าการสร้างโครงการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า สร้างระบบโครงข่ายการขนส่งที่หลากหลาย และส่งเสริมการกระจายสินค้าระหว่างประเทศในนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วย