แย้มดูข้อมูลมหาเศรษฐีในแดนมังกรรวมทั้งมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง

แย้มดูข้อมูลมหาเศรษฐีในแดนมังกรรวมทั้งมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.ย. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,124 view

บทความ:แย้มดูข้อมูลมหาเศรษฐีในแดนมังกรรวมทั้งมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่ง

ระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศตาม “ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง” จนบรรลุความสำเร็จอันสุดยอดของการพัฒนา ส่งผลต่อเศรษฐกิจจีนที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจากมูลค่า GDP ในปี 2521 ที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 15 ของโลก) เพิ่มขึ้นจนถึง 8.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 ด้วยอัตราการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งที่ 7.8% ทำให้มูลค่า GDP ขยายตัวถึง 143 เท่าภายในเวลาเพียง 34 ปี (หรือโตเฉลี่ยปีละ 4 เท่า ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ ที่โตเฉลี่ยเพียง 0.2 เท่าในระยะเวลาเดียวกัน) ทำให้จีนผงาดสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ตามหลังแค่เพียงสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่า GDP ที่ 15.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราเติบโตเพียง 2.2% (ปี 2555)

    

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

เมื่อพิจารณาดูจากค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชากรชาวจีน หรือ GDP per capita ในปี 2521 อยู่ที่ 381 ดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปี 2555 เพิ่มขึ้นจนถึง 6,141 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับ 87 แซงไทยที่ 5,848 แล้ว) และนี่เป็นสัญญาณบอกว่า ความมั่งคั่งกำลังกระจายไปสู่ประชาชนชาวจีนที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก (ราว 1,350 ล้านคน) อย่างรวดเร็วตลอดช่วง 3 ทศวรรษของการพัฒนาประเทศ

ในจีนแผ่นดินใหญ่ทุกๆ 1300 คน จะมี เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไป อยู่ 1 คน และทุกๆ 20,000 คน จะมี เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไป อยู่ 1 คน

การจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของ “นิตยสารฟอร์บส์” เริ่มปรากฎให้เห็นรายชื่อมหาเศรษฐีชาวจีนแผ่นดินใหญ่ติด 100 อันดับแรกของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแล้ว โดยในปี 2555 นายหลี เอี่ยนหง (李彦宏) เจ้าของบริษัทไป่ตู้ เซิร์จเอนจิ่นที่ใหญ่ที่สุดของจีน ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 86 (ขยับจาก 95 ในปี 2554) ทรัพย์สินที่เขาครอบครองอยู่นั้นสูงถึง 10,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เดิมมีทรัพย์ที่ 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ )

สำหรับ 10 อันดับแรกของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ประจำปี 2555 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ไชน่า มีดังนี้

อันดับ

ชื่อ

อาชีพ

มูลค่าทรัพย์สิน

(ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

1

นายหลี เอี่ยนหง (李彦宏)

เจ้าของบริษัทไป่ตู้

10,200

2

นายเหลียง ฉวีเกิน (梁稳根)

เจ้าของบริษัท SANY GROUP

8,100

3

นายจง ชิ่งโฮ่ว (宗庆后)

เจ้าของบริษัทหวาฮาฮา”

6,500

4

นายเฮ่อ เสียงเจี่ยน (何享健)

เจ้าของบริษัท MEDIA GROUP

6,200

5

 นายสวี เจียอิ้น (许家印)

เจ้าของบริษัท EVERGRANDE GROUP

5,800

6

นายหลิว ย่งซิง (刘永行)

เจ้าของบริษัท EAST HOPE GROUP

5,800

7

นางอู๋ ย่าจุน (吴亚军及)

เจ้าของบริษัท LONGFOR GROUP

5,700

8

นายหม่า ฮั่วเถิง (马化腾)

เจ้าของบริษัท TENCENT (腾讯)

4,700

9

นางหยาง ฮุ่ยเอี๋ยน (杨惠妍)

เจ้าของบริษัท COUNTRY GARDEN HOLDING

4,700

10

นายจาง จิ้นตง (张近东)

เจ้าของบริษัท SUNING

4,500

ที่มา: http://finance.sina.com.cn/focus/fbs_2012/

 http://finance.sina.com.cn/focus/fbs_2012/

ผ่านไปแล้ว 1 ปี เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปเกิดใหม่ในแผ่นดินจีนถึง 30,000 คน

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัย “Hurun” หน่วยงานการจัดอันดับความมั่งคั่งของจีนที่มีชื่อเสียงที่สุด เปิดเผย จำนวนมหาเศรษฐีในแผ่นดินใหญ่ (31 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/มหานคร ไม่นับรวมมาเก๊า ฮ่องกง ไต้หวัน) “Hurun Wealth 2013” พบว่า  

ในปี 2555 เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไป มีจำนวน 1,050,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 30,000 คน หรือเพิ่มขึ้นที่ 3%

ในจำนวนดังกล่าวเป็น เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปรวมอยู่ด้วยมีจำนวน 64,500 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 1,000 คน หรือเพิ่มขึ้นที่ 2%

ทว่า ตัวเลขจำนวนมหาเศรษฐีทั้ง 2 ข้างต้นนั้นกลับเป็นอัตราการเพิ่มที่นับว่าน้อยมากตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในจีนแผ่นดินใหญ่ยังมี เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 1,000 ล้านหยวนขึ้นไปจำนวน 8,100 คน และ เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10,000 ล้านหยวนขึ้นไปจำนวน 280 คน

ข้อมูลเพิ่มเติม ยังมีการคาดการณ์ว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า จำนวนเศรษฐี 100 ล้านหยวนขึ้นไปจะมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยถึงปีละ 20% โดยประมาณ

Hurun ยังได้สำรวจเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ของเหล่ามหาเศรษฐีแดนมังกรทำให้ทราบได้ว่า เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปที่ครองสัดส่วนราว 40% หรือที่จำนวน 420,400 คน ซึ่งรวมไปถึงเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปที่ครองสัดส่วนราว 38% ล้วนอาศัยอยู่ใน “เมืองระดับ 1 (一线城市)อย่างนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น และนครกว่างโจว เป้นต้น และถ้าหากพิจารณาเป็นรายเมืองจะพบว่า

อันดับที่ 1 กรุงปักกิ่ง มีคนรวยอยู่มากที่สุดในประเทศ โดยมีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนถึง 184,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 5,000 คน และในจำนวนนี้เป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปถึง 10,700 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 200 คน

อันดับ 2 นครกว่างโจว มีคนรวยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดรองลงมา โดยมีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนถึง 172,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปถึง 9,600 คน

อันดับ 3 นครเซี่ยงไฮ้ มีคนรวยอาศัยอยู่มากรองลงมา โดยมีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นอาศัยอยู่เป็นจำนวนถึง 147,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปถึง 8,500 คน

สำหรับนครเทียนจิน เป็น 1 ในเมืองที่มีอัตราการเพิ่มจำนวนมหาเศรษฐีรวดเร็วที่สุด โดยมีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นอาศัยอยู่เป็นจำนวนถึง 19,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 11% ในจำนวนนี้เป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปถึง 1,400 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 12% จัดอยู่ในอันดับ 10 ของประเทศ

ที่มา : http://www.hsd.cn/news/news-24624.htm

จากการสำรวจของ Wurun กล่าวง่ายๆ ได้ว่า เมื่อสิ้นสุดปี 2555 จำนวนมหาเศรษฐีทั้งหมดในจีนแผ่นดินใหญ่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 60% เทียบจากปี 2554 (ที่ 58%)

เศรษฐีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกและภาคเหนือที่มีฐานะเป็นเมืองระดับ 1 (一线城市) ครองสัดส่วนมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศที่ 40%

อีก 60% ของเศรษฐีใหม่อาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่ใช่ระดับ 1 (非一线城市)

นับตั้งแต่เศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกที่มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีเศรษฐกิจน้องใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล้วนอาศัยอยู่ในเมืองระดับ 2 (二线城市) และ เมืองระดับ 3 (三线城市) ของประเทศที่สัดส่วน 29% และ 31% ตามลำดับ อาทิ มณฑลเหอหนาน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลชิงไห่ เขตปกครองตนเองทิเบต เป็นต้น

แต่กระนั้นก็ตาม จำนวนเศรษฐีที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาคตะวันตกนั้นยังคงมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคตะวันออก

เว้นเสียแต่ในมณฑลเสฉวน มีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปเกิดขึ้นใหม่มากที่สุด โดยในปี 2555 มีจำนวนอยู่ที่ 26,800 คน เพิ่มจากปีก่อน 1,300 คน คิดเป็นสัดส่วนที่ 2.6% จัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศ และมีเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปอยู่ที่จำนวน 1,850 คน เพิ่มจากปีก่อน 50 คน จัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศเช่นกัน

สำหรับในนครเฉิงตู เศรษฐีที่มีระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปมีจำนวนราว 12,100 คน คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมณฑลเสฉวน และ เศรษฐีที่มีระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปมีจำนวนราว 930 คน

ส่วนในนครฉงชิ่ง เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปมีจำนวน 12,800 คน (เพิ่มขึ้น 300 คน จากปี 2554) จัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของประเทศ และ เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไปมีจำนวนถึง 810 คน (เพิ่มขึ้น 10 คน จากปี 2554) จัดอยู่ในอันดับที่ 19 ของประเทศ

ตารางแสดงการจัดอันดับมณฑล/นคร/เมืองของ เศรษฐีที่มีระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไป ในจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2555

อันดับ

มณฑล/นคร/เมือง

จำนวน

(คน)

เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจาก 2554 (คน)

อัตรการเพิ่ม

ครองสัดส่วน

ทั่วประเทศ

64,500

1,000

1.6%

-

1

กรุงปักกิ่ง

10,700

200

1.9%

16.6%

2

มณฑลกวางตุ้ง

9,600

100

1.1%

14.9%

3

นครเซี่ยงไฮ้

8,500

300

3.7%

13.2%

4

มณฑลเจ้อเจียง

7,700

-100

-1.3%

11.9%

5

มณฑลเจียงซู

4,900

100

2.1%

7.6%

6

มณฑลฝูเจี้ยน

2,400

0

0.0%

3.7%

7

มณฑลซานตง

2,200

200

10.0%

3.4%

8

มณฑลเหลียวหนิง

2,000

-50

-2.4%

3.1%

9

มณฑลเสฉวน

1,850

50

2.8%

2.9%

10

นครเทียนจิน

1,400

150

12.0%

2.2%

11

มณฑลซานซี

1,300

-50

-3.7%

2.0%

12

มณฑลเหอหนาน

1,300

100

8.3%

2.0%

13

มณฑลเหอเป่ย

1,200

-100

-7.7%

1.9%

14

มณฑลหูเป่ย

1,100

20

1.9%

1.7%

15

มณฑลอันฮุย

920

20

2.2%

1.4%

19

นครฉงชิ่ง

810

10

0.0%

0.0%

ที่มา : http://focus.21cn.com/hotnews/a/2013/0815/09/23455017.shtml
 

ข้อมูลเพิ่มเติม เมืองระดับ 1 (一线城市) มี 4 นคร/เมือง/เมืองหลวง ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองเซินเจิ้น นครกว่างโจว เมืองระดับ 2 (二线城市) มี 33 นคร/เมือง ได้แก่ นครฉงชิ่ง นครเทียนจิน นครหังโจว เมืองหนิงโป เมืองเวินโจว เมืองซูโจว นครหนานจิง นครฝูโจว เมืองเซี่ยเหมิน เมืองชิงเต่า เมืองเวยไห่ เมืองต้าเหลียน นครเสิ่นหยาง นครเฉิงตู นครอู่ฮั่น นครซีอัน นครฮาร์บิน เมืองออร์ดอส นครฮูฮอต นครจี้หนาน นครฉางชุน นครเจิ้งโจว นครฉางซา นครอูรุมชี นครคุนหมิง นครหลานโจว เมืองหนานชาง นครกุ้ยหยาง นครหนานหนิง นครเหอเฟย เมืองไท่หยวน นครสือเจียจวง เมืองตงก่วน

หลายคนคงสงสัยว่าทำมหาเศรษฐีแดนมังกรเหล่านี้ถึงได้มีรายได้สูงมาก Wurun ได้เผยผลสำรวจสิ่งที่ทำให้เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไปเหล่านี้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยส่วนใหญ่มาจาก 4 กลุ่มอาชีพ

กลุ่มที่ 1 การเป็นเจ้าของกิจการ ครองสัดส่วนครึ่งหนึ่งของบรรดาอาชีพทั้งหมดที่ 50% โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ราว 20,000 คน

กลุ่มที่ 2 นักเล่นหุ้นมืออาชีพ ครองสัดส่วนที่ 20% และพบว่าในปี 2555 เริ่มปรากฎจำนวนที่ลดลงกว่า 5% เมื่อเทียบกับปี 2554

กลุ่มที่ 3 นายทุน รวมไปถึงอาชีพนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ครองสัดส่วนที่ 15% โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ราว 10,000 คน

กลุ่มที่ 4 ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้ทักษะวิชาชีพชั้นสูง ครองสัดส่วนรองลงมาที่ 15% โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ 5%

Wurun ได้ทำการสำรวจลึกเข้าไปถึงอาชีพที่เป็นที่มาของรายได้อันมหาศาลของเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากขึ้นไปอีกที่ระดับ 100 ล้านหยวนขึ้นไป โดยพบว่ามี 3 กลุ่มอาชีพที่เป็นที่มาของรายได้หลักเหล่านี้

กลุ่มที่ 1 เจ้าของกิจการ ครองสัดส่วนมากสุดถึง 80% โดยเศรษฐีกลุ่มนี้มักเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่และเข้าตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงมีบริษัทลูกในเครือมากมาย ส่วนใหญ่จะมีไลน์ธุรกิจหลากหลายประเภท

กลุ่มที่ 2 นายทุน รวมไปถึงอาชีพนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ครองสัดส่วนที่ 15%

กลุ่มที่ 3 นักเล่นหุ้นมืออาชีพ ครองสัดส่วนน้อยสุดที่ 5%

มหาเศรษฐีจีนเกินกว่าครึ่งชอบลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด

เมื่อพูดถึงการลงทุน เศรษฐีแดนมังกรส่วนใหญ่นิยมการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากเป็นอันดับแรกครองสัดส่วนมากเกินครึ่งที่ 64% มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ 4%

ตามมาด้วยอันดับ 2 สนใจลงทุนในตลาดหุ้น ครองสัดส่วนที่ 44% (ปรับลดลง 2%) อันดับ 3 นิยมการลงทุนในหลายมิติ 31% โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อันดับ 4 การลงทุนในตราสารหนี้/ทองคำ 26% และสุดท้ายอันดับ 5 ลงทุนในงานศิลปะ 21%

ทิศทางการลงทุนของเหล่าเศรษฐีจีนแผ่นดินใหญ่จากการสำรวจเมื่อปี 2555 ที่มา: http://gx.people.com.cn/n/2013/0815/c179430-19314243.html

เศรษฐีจีนรุ่นใหม่อายุเฉลี่ย 38 ปี กว่า 30% ชอบเดินทางท่องเที่ยว

เมื่อนำรายได้ของเศรษฐีทั้งหมดตลอดปี 2555 ถัวมาเฉลี่ย พบว่าจะตกต่อคนอยู่ที่ราว 59 ล้านหยวน ทว่ารายได้ที่เข้ากระเป๋าเศรษฐีนั้นกลับมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบจากปี 2554 ที่ 6% คิดเป็นอัตรารายจ่ายเฉลี่ยต่อปีที่ 3% ของรายได้เฉลี่ยข้างต้น โดยรายจ่ายดังกล่าวกว่า 1 ใน 3 หมดไปกับการท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนใหญ่

เมื่อสอบถามถึงอายุอานามจะพบว่า ในปี 2555 เศรษฐีในจีนแผ่นดินใหญ่ประสบความสำเร็จและก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งเร็วขึ้นกว่าปี 2554 โดยส่วนใหญ่เศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านหยวนขึ้นไป กว่า 70% เป็นชาย เฉลี่ยอยู่ในวัย 38 ปี ในจำนวนนี้กว่า 43% จบการศึกษาระดับปริญญาโท หรือ Executive MBA เศรษฐีในระดับนี้ทุกคนมีรถยนต์หรูส่วนตัวในครอบครองเฉลี่ยคนละ 3 คันเป็นอย่างต่ำ นาฬิการาคาแพง 4 เรือน เดินทางออกนอกประเทศเฉลี่ยปีละ 2.8 ครั้ง เดินทางประชุมนอกสถานที่เดือนละ 7.5 วัน มีวันหยุดพักร้อนปีละ 20 วัน นอกจากนี้ เศรษฐีแดนมังกรกว่า 2 ใน 3 เป็นนักสะสม ตั้งแต่นาฬิกาข้อมือหรูหรา จนไปถึงภาพเขียนพู่กันอักษรจีนโบราณ

เศรษฐีแดนมังกรสนุกกับการช้อปผ่านโลกออนไลน์ปีที่แล้วเฉลี่ยคนละ 33,000 หยวน

ปัจจุบัน เศรษฐีจีนให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์ เกาะติดกระแสดิจิตัล มีความสามารถในการใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เรียนรู้ไปพร้อมกับความมั่งคั่งในโลกสมัยใหม่

เศรษฐีจีนจำนวนมากถึง 98% มีความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน 82% ใช้อินเตอร์เน็ตทุกวัน หรือเฉลี่ยตกสัปดาห์ละ 6.2 วัน เศรษฐีจีนยังมีความสามารถในการใช้ “เว๋ยปั๋ว (Weibo เที่ยบเท่ากับ Twitter)” ถึง 70% และเศรษฐีจีนอีก 80% ยังนิยมใช้ “เวยซิ่น (Wechat เทียบเท่ากับ Line)” ในการติดต่อสื่อสารโดยเฉลี่ยเข้าดูมากกว่าวันละ 5 ครั้ง และจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐีเรียกได้ว่า “ติดเวยซิ่นงอมแงม”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนคาดไม่ถึงก็คือ จำนวนกว่า 90% ของเศรษฐีจีนนิยมซื้อของผ่านทางอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยในแต่ละปีมียอดช้อปของเหล่าบรรดาเศรษฐีผ่านทางอินเตอร์เน็ตต่อคนอยู่ที่ราว 33,000 หยวน โดยส่วนใหญ่ที่ซื้อจะเป็นสินค้าอิเล็คทรอนิกส์

อัตราการเพิ่มจำนวนเศรษฐีจีนชะลอตัวในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าจำนวนเศรษฐีในแดนมังกรจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในปี 2555 ทว่าอัตราการเพิ่มนั้นลดลงต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน เห็นได้จากการเพิ่มจำนวนเศรษฐีที่มีทรัพย์สินระดับ 100 ล้านขึ้นไปที่มีอัตราการเพิ่มในปี 2554 ที่ 3% ลดลงเป็น 2% ในปี 2555 ซึ่งเป็นอัตราการลดลงที่ต่ำที่สุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ภาพประกอบจากเน็ต

สถาบันวิจัยความมั่งคั่ง Wurun เผยว่า อัตราการเพิ่มของเศรษฐีที่ลดลงเป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในปี 2555 การปรับนโยบายและควบคุมตลาดหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้นผันผวน เป็นต้น ทำให้ความมั่งคั่งของเศรษฐีเริ่มปรับลดลง ส่งผลต่อเศรษฐีในบางภูมิภาคลดจำนวนลงตามกัน

แม้ว่าในภาพรวมทั้งประเทศจำนวนเศรษฐีมีแนวโน้มเพิ่ม แต่ในปี 2554 จำนวนเศรษฐีในมณฑลเจ้อเจียงและเขตปกครองตนเองมองโกเลียในกลับลดลงอย่างน่าเป็นห่วง สะท้อนถึงผลกระทบต่อการผลิตในภาพรวมของเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐีจีนเกิดความวิตกและมีความแคลงใจต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

จากการสำรวจความเชื่อมั่นพบว่า เศรษฐีจีนจำนวนเพียง 1 ใน 4 (มีอัตราที่ลดลงที่ 3% จากปี 2554) มีความมั่นใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างมาก สำหรับเศรษฐจีนที่ยังคงมีความมั่นใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่บ้างมีจำนวน 66% (เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2554) และเศรษฐีจีนที่หมดความเชื่อมั่นกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีจำนวนถึง 9% เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ 2% (สูงสุดในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา)

นายหลี่ ซู่เผ็ย นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค บ. China Securities Co., Ltd. มองว่า “หากดูโดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจจีนในปีนี้ยังนับว่าสดใส”

นายหลี่กล่าวต่อว่า แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ยังไม่เป็นไปตามปรารถนาสักเท่าใดนัก นโยบายของรัฐบาลจีนที่ยังคงมีความเข้มงวด กอปรกับการปรับปรุงโครงสร้างในหน่วยงานภาครัฐยังคงดำเนินการต่อไป ล้วนเป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของเหล่าวิสาหกิจที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะมาตรการเข้มงวดทางการเงินของธนาคารที่ประกาศออกมาในเดือน มิ.ย. 2556ยิ่งสร้างความวิตกให้บรรดาวิสาหกิจไปตามกัน ส่งผลให้ Market expectation ต่ำ

สรุปว่า เมื่อมองในช่วงครึ่งหลัง ความกดดันลดลง แม้การลงทุนในภาคการผลิตยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่เมื่อมองถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายโดยภาพรวมที่ผ่อนปรน ทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงรัฐบาลให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” น่าจะทำให้วิสาหกิจทั้งหลายคลายความกังวลลง นักลงทุนมีความหวังต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ตลอดจนหน่วนงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ทำให้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้เมื่อมองโดยภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มที่สดใส

หากแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนในปี 2556 เป็นดั่งเช่นที่นายหลี่วิเคราะห์ไว้ บรรดาเศรษฐีแดนมังกรทั้งหลายคงจะโล่งใจขึ้นและจำนวนเศรษฐีจีนก็น่าจะติดอันดับ Top 100 ของนิตยสารฟอร์บส์เพิ่มขึ้นจากปีนี้เป็นแน่แท้

 

************************

 

จัดทำโดย นายชลพรรษ ตั้งตระการ

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

 

แหล่งที่มา

นสพ.ฉงชิ่งซังเป้า วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2556

http://wenwen.soso.com/z/q92576342.htm

http://money.591hx.com/article/2010-10-28/0000124497s.shtml

http://wenku.baidu.com/view/aff318c42cc58bd63186bd9e.html

www.forbeschina.com

http://www.chinaventure.com.cn/life/life-273-1.html

http://cq.cqwb.com.cn/NewsFiles/201308/15/1953698.shtml

http://tz2.bbs.loupan.com/thread-514475-1-1.html