วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ม.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
หลายๆ คน มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนักธุรกิจ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเริ่มต้นและจับหลักทางธุรกิจได้ตั้งแต่อายุยังน้อย นั่นหมายถึงโอกาสของการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เพื่อสั่งสมประสบการณ์ และความสามารถในการทำธุรกิจ ล้วนเป็นที่มาแห่งความสำเร็จในอนาคต
คงจะมีนักธุรกิจไทยจำนวนไม่มากที่มีความกล้าที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจระหว่างประเทศด้วยตนเองตั้งแต่ช่วงวัย 20 ต้นๆ อย่าง “น้องพศิน อุตตวงษ์” เจ้าของแบรนด์ “Mandarin Best (蜜桔)” ผู้ซึ่งเลือกที่จะสร้างหนทางและกำหนดชีวิตของตัวเองมุ่งสู่ธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับจีนอย่างเต็มตัว
น้องพศิน เล่าให้กับศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ นครเฉิงตูฟังว่า โดยพื้นเพที่บ้านเป็นคนจังหวัดเชียงราย คุณแม่เป็นเจ้าของบริษัท“ประยงค์การเกษตร” ประกอบธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรมานานกว่า 20 ปี
คุณแม่เริ่มต้นทำธุรกิจกับจีนโดยการนำเข้ากระเทียมโทนจากมณฑลยูนนาน และกระเทียมกลีบเขมรจากมณฑเสฉวนตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต่อมาธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เราเป็นบริษัทนำเข้ากระเทียมจากจีนสู่ไทย 1 ใน 5 รายที่ใหญ่ที่สุดในเขตภาคเหนือของไทย และเรายังมีโรงงานสำหรับทำบรรจุภัณฑ์ใน จ.เชียงราย เพื่อส่งสินค้ากระจายทั่วเขตภาคเหนือ รวมถึงส่งสินค้ามายังหน้าร้านที่ตลาดไท จ.ปทุมธานี เพื่อส่งสินค้ากระจายทั่วเขตภาคกลาง
การนำเข้ากระเทียมนั้นเป็นธุรกิจหลักของที่บ้าน คุณแม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ในการทำการค้า อีกอย่างเชียงรายก็อยู่ใกล้กับจีนไปมาสะดวก ที่สำคัญจีนเป็นตลาดใหญ่มาก มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พูดได้เลยว่าวัตถุดิบทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ รวมไปถึงของแห้งที่คนไทยเราต้องการบริโภคนั้นกว่า 80%-90% ล้วนนำเข้ามาจากจีนทั้งสิ้น
คุณแม่มองแล้วว่า ไทยเราผลิตกระเทียมได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในประเทศ จึงตัดสินใจหันมาจับธุรกิจนำเข้ากระเทียม เพราะมองเห็นศักยภาพของจีนในฐานะที่จีนเป็นประเทศผู้ผลิตกระเทียมรายใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่ากระเทียมไทยจะมีรสชาติที่ดีกว่าของจีน แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน คนไทยติดใจรสชาติกระเทียมจีนแล้ว เพราะกระเทียมจีน “สวยงาม กินง่าย และราคาถูก”
น้องพศิน ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าจากจีนสู่ไทยว่า สำหรับระบบโลจิสติกส์ที่ใช้ในการนำเข้าสินค้าสู่ประเทศไทยนั้น ทางบริษัทใช้เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งด้วยรถบรรทุกคอนเท็นเนอร์ขนาด 40 ฟุต ใช้เวลาขนส่งจากคุนหมิงถึงเชียงรายประมาณ 4-5 วัน ซึ่งเดือนหนึ่งๆ เราจะนำเข้ากระเทียมหลายตู้คอนเท็นเนอร์ ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 80,000-100,000 บาท/ตู้/เที่ยว
แต่ก่อนเคยใช้การขนส่งทางเรือ ล่องมาตามลำน้ำโขงจนถึงท่าเรือเชียงแสน แน่นอนว่าราคาค่าขนส่งนั้นถูกว่าการขนส่งทางบกถึง 30-40% แต่มีข้อเสียเรื่องความไม่แน่นอนของเวลา บางครั้งเรือต้องจอดพักแรม ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรเสียหาย ทำให้เราไม่สามารถควบคุมราคากระเทียมที่ผันผวนตลาดสินค้าเกษตรได้
การทำธุรกิจกระเทียมของคุณแม่บางครั้งไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ เมื่อมีได้ก็ย่อมมีเสีย โดยส่วนตัวผมมองว่าธุรกิจทางบ้านที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นมีการแข่งขันสูงมาก เพราะทุกคนเริ่มรู้จักจีน และพร้อมใจกันมุ่งหน้ามาสู่ตลาดจีน
เรามีความกังวลในเรื่องของปริมาณกระเทียมที่พ่อค้าทุกคนต่างแข่งกันนำเข้ามากจนเกินดีมานด์ของตลาดในประเทศ ส่งอิทธิพลให้ราคาตก นำไปสู่การตัดราคากันเองในกลุ่มพ่อค้ากระเทียมทั้งคนไทยและคนจีน ผลสุดท้ายคือคนไทยเองที่ต้องบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพต่ำในที่สุดเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจด้วยตัวเอง
หลังจากที่น้องพศินเรียนจบปริญญาตรี สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเสฉวน ก็ได้เดินทางกลับไทยเพื่อตั้งหลักค้นหาลู่ทางต่อยอดช่วยเหลือธุรกิจของคุณแม่ให้ยั่งยืนและมุ่งมั่นสร้างสรรค์ธุรกิจของตนเอง
ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเสฉวนนั้น ผมได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวควบคู่กับการสำรวจตลาดไปด้วย จนทำให้มีโอกาสพบปะผู้คนหลากหลาย จนได้เรียนรู้การทำธุรกิจกับจีนหลังจากที่ผมกลับไปไทยได้ประมาณปีกว่า ผมได้ตั้งเป้าสานต่อในธุรกิจเกษตรที่คุณแม่ได้สร้างไว้ควบคู่ไปกับการเริ่มต้นขยายช่องทางธุรกิจนำเข้าส่งออกนี้ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ครั้งแรกกับการทำธุรกิจหลังเรียนจบด้วยวัยเพียง 21 ปี กำไร 300,000 บาท
ธุรกิจแรกที่ผมลองจับดูนั้น มาจากความบังเอิญที่ได้รู้จักเพื่อนคนจีนคนหนึ่งในช่วงที่ผมกำลังเรียนอยู่ในนครเฉิงตู และคนนี้เคยได้ชักชวนให้ทำธุรกิจร่วมกัน โดยทันทีหลังจากที่ผมเรียนจบและมีความพร้อม ผมก็ได้ติดต่อกับเพื่อนคนนี้อีกครั้งและได้เดินทางมาพบกันที่ไทยเพื่อตกลงเซ็นสัญญาทำธุรกิจส่งออกร่วมกัน
ผมจึงทำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับซื้อเผือกและมังคุดจากเกษตรกรไทยเพื่อส่งออกมายังตลาดเจียงหนาน มณฑลกวางตุ้ง โดยมีเพื่อนคนดังกล่าวเป็นผู้ประสานงานติดต่อตลาดให้ ซึ่งธุรกิจตัวแรกนี้ผมเป็นคนจัดการเองทั้งหมดตั้งแต่การติดต่อกับบริษัทคู่ค้า การหาตลาด ตลอดจนบริษัทโลจิสติกส์ โดยใช้การขนส่งด้วยรถบรรทุกคอนเท็นเนอร์ผ่านด่านที่ จ.มุกดาหาร เข้า สปป. ลาว สู่เวียดนาม ออกด่านผิงเสียง ผ่านมณฑลกว่างซี และสิ้นสุดที่ตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว ใช้เวลาในการขนส่งประมาณ 5-6 วัน
ผลของการทำธุรกิจแรกด้วยตนเองตลอด 6 เดือน ผมได้ส่งออกเผือกไปจีนทั้งสิ้น 15 ตู้คอนเท็นเนอร์ และมังคุดอีก 8 ตู้คอนเท็นเนอร์ ซึ่งโชคดีมากที่ทุกเที่ยวที่ส่งออกไปนั้น ไม่มีอุปสรรคและลูกค้าคนจีนก็จ่ายเงินครบถ้วน งานชิ้นแรกจบลงด้วยความราบรื่น พร้อมกับผลกำไรครั้งแรกของชีวิตที่ 300,000 บาท มันทำให้ผมเริ่มมีความมั่นใจในการทำธุรกิจไทยจีนมากขึ้นและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
หลังจากนั้นการส่งออกเผือกก็ได้ดำเนินมาถึงจุดอิ่มตัว อันเนื่องมาจากเรายังมีลูกค้าไม่มาก กอปรกับที่จีนเองเป็นแหล่งผลิตเผือกขนาดใหญ่ ต้องดูปริมาณผลผลิตของจีนเองในแต่ละปี หากปีไหนจีนมีผลผลิตออกมามาก ราคาก็จะถูกกว่าเผือกไทย เราก็หมดสิทธิ์ทำธุรกิจในตัวนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ทำให้ผมต้องมองหาสินค้าตัวใหม่แทน
ธุรกิจที่ 2 นำเข้าส้มจากจีนกับการขาดทุนครั้งแรกในชีวิต
จากความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมของธุรกิจตัวแรกที่ประสบความสำเร็จ เป็นบ่อเกิดธุรกิจตัวที่ 2 ธุรกิจนำเข้าส้มแมนดาริน
น้องพศินเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนส้มสายน้ำผึ้ง ส้มบางมดของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก แต่เมืองไทยอากาศร้อน ต้นทุนในการดูแลสวนส้มนั้นเลยสูงมากเป็นเงาตามตัว ต้องพ่นยากำจัดศัตรูพืชมาก ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อม สุขภาพของชาวสวนก็ไม่ดี ปัญหามากมาย ส้มจึงมีผลผลิตน้อยไม่พอกับความต้องการของตลาด และราคาขายต่อกิโลกรัมที่แสนแพง
ผมจึงมองเห็นโอกาสที่ส้มจากประเทศจีนน่าจะทำตลาดได้ในบ้านเรา เพราะ “ส้มจีนนั้นอร่อย ไม่มีเม็ด ราคาถูก (กก. ละ 20-30 บาทเท่านั้น) เลยลองวัดดวงเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าส้มแมนดาริน” ผมเลยตัดสินใจบินตรงไปดูไร่ส้มแมนดารินที่มณฑลเจียงซีเพราะมีรสชาติดีเยี่ยมด้วยตัวเอง
ยอมรับเลยว่าเป็นครั้งแรกที่ลุยไปแบบมีความเสี่ยงสูง เพราะเรารู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต ตอนแรกก็รู้สึกกลัวเหมือนกันว่าจะถูกหลอก แต่เมื่อผมมาถึงสนามบิน พบว่ามีคนมารับและพาเราตรงไปที่ไร่ส้มเลย ทำให้รู้สึกถึงความมั่นใจและความจริงใจที่จะร่วมมือกันทำธุรกิจกับเราจริงๆ จึงตกลงเซ็นต์สัญญาซื้อส้มแมนดารินล็อตแรกเป็นจำนวน 6 ตู้คอนเท็นเนอร์ คิดเป็นเงิน 3 ล้านบาท และขนส่งทางทะเลมาถึงตลาดไทใช้เวลาเดินทาง 8 วัน
ทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญทั้งด้านผู้ผลิตในจีนและพฤติกรรมผู้บริโภคในไทยเอง
ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมนำเข้าสินค้าเกษตรที่ไม่ใช่ของแห้งจากจีนเข้ามาไทยด้วยตัวเอง ผลปรากฏว่าไม่ราบรื่นเหมือนอย่างที่คิดไว้ เจออุปสรรคหลายด้าน ตลาดตาย มีคู่แข่งเยอะแบบชนิดคาดไม่ถึง
น้องพศินเล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พบว่า โดยทั่วไปส้มแมนดารินส่วนใหญ่ที่เพิ่งออกผล มักมีสีเขียวและมีรสออกเปรี้ยว แต่ผมคัดสรรเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพดี มีรสชาติดีตรงตามผู้บริโภคของคนไทยเรา ผมจึงตั้งความหวังไว้อย่างสวยงามกับส้มแมนดารินล็อตแรกของผม
“สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ผมถึงกับช็อคเมื่อรู้ว่าสินค้าของผมถูกปฏิเสธจากพ่อค้าที่มารอรับซื้อที่ตลาดไท ทันทีที่เห็นว่าส้มแมนดารินของผมเป็นสีเขียวไปหมดทุกแพ็ค !?” ซึ่งนั่นหมายถึงการขายไม่ออก แต่ก็ไม่ใช่แค่ของผมรายเดียว รายอื่นๆ ก็พบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน
“ความกล้าเสี่ยงบนพื้นฐานประสบการณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด การศึกษาตลาดไม่ละเอียด การอ่านตลาดไม่ขาด ล้วนเป็นที่มาของความผิดพลาดของผมเองในครั้งนี้”
ตอนนั้น ผมเฝ้าไร่ส้มอยู่ที่จีนและได้รับโทรศัพท์จากคุณแม่ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบตามปกติ ในตอนนั้นท่านเลือกที่จะยังไม่บอกความจริงให้ผมทราบว่าขายไม่ได้ เพียงแค่เน้นย้ำว่า ส้มที่เหลืออีก 2 ตู้คอนเท็นเนอร์ เอาสีสวยกำลังดีไม่ติดเขียว ซึ่งความจริงแล้วรสชาติก็ดีเหมือนกันหมด
หลังจากที่ผมทราบความจริง จึงต้องแก้ปัญหาโดยเก็บส้มแมนดาริน 4 ตู้แรกที่มาถึงไทยก่อนไว้ในห้องเย็นประมาณ 20 วัน เพื่อให้ผลส้มออกเหลือง แต่ยังคงความสดและรสชาติอร่อยไม่เปลี่ยนแปลง “เราต้องยอมขาดทุนเพื่อให้ขายออกไปให้ได้มากที่สุด ดีกว่าจะปล่อยให้เสียไปเลยในห้องเย็นทั้งหมด”
ขาดทุนครั้งแรก แต่ไม่ขาดกำลังใจ เพื่อก้าวต่อไปที่มั่นคง
น้องพศินเล่าต่อว่า หลังจากที่รู้แล้วว่าต้องขาดทุนแน่นอนไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ผมรู้สึกกดดันมาก เพราะผมไม่เคยเจอมาก่อนด้วยตัวเอง ความมั่นใจจากที่เคยมีหดหาย ถึงขนาดนอนไม่หลับอยู่ 1 สัปดาห์ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่อยากทำให้คุณแม่ต้องผิดหวังและไม่มีความเชื่อมั่นในตัวผม แต่คุณแม่กลับไม่มีความรู้สึกนั้น ท่านให้กำลังใจตลอดเวลา เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสู้ต่อ
ท่านให้ข้อคิดกับผมว่า
“อย่าท้อนะลูก ทำต่อไป ไม่เช่นนั้นจะขาดทุน เพราะเราอาจมีกำไรในล็อตหลังๆ อีกอย่างถือเป็นการซื้อประสบการณ์เพื่อเปิดลู่ทางการทำธุรกิจในจีนของตัวเองด้วยตัวเองนะลูก”
“ต้องรู้จักหัดสังเกตความต้องการของตลาด ชนิด สีของส้ม รสชาติ โดยเฉพาะเรื่องแพ็คกิ้งเป็นเทคนิคที่สำคัญ”
หลังจากที่ผมหายจากความกังวล ผมก็เริ่มต้นใหม่ เริ่มเรียนรู้กรณีศึกษาจากผู้ประสบความสำเร็จรายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมจับหลักและลุกขึ้นยืนเพื่อสู้ต่อ
“รายนี้อ่านเกมส์ขาดครับ ส้มเขียวเหมือนผม แต่คุณภาพสู้ของผมไม่ได้ จุดสำคัญอยู่ที่เจ้านี้ใช้แพ็คกิ้งหุ้มผลส้มเป็นพลาสติกสีแดง ซึ่งทำให้เห็นแล้วรู้สึกว่าส้มสุกแล้วเลยขายได้หมด แต่แพ็คกิ้งของผมเป็นสีขาวตัดกันเลยขายไม่ออกขาดทุนทันที ผมจึงรีบเปลี่ยนแพ็คกิ้งใหม่อย่างเร่งด่วน”
ผมทำธุรกิจนำเข้าส้มแมนดารินจากจีนจนถึงตอนนี้เป็นเวลาประมาณครึ่งปีแล้ว รวมจำนวนส้มที่สั่งเข้าไทยแล้วเป็นจำนวนกว่า 45 ตู้คอนเท็นเนอร์
“จาก 6 ตู้แรกที่ขาดทุนไป 1 ล้าน เป็นแรงบันดาลใจต่อยอดสู่อีกกว่า 40 ตู้ต่อมา ผมไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากมายในตอนแรกที่พลาดไป แต่ขอเพียงว่า ทำเพื่อให้ได้เงินที่ขาดทุนไปกลับคืนมาก็พอใจแล้ว”
น้องพศินเพิ่มเติมว่า ผมเป็นรายเล็กๆ ที่สามารถยืนอยู่ในตลาดได้ตามปกติ ไม่สามารถเทียบกับรายใหญ่ที่นำเข้า 100-200 ตู้ได้ “เราต้องยอมรับตัวเองว่าเรายังเด็กและโนเนมอยู่”
ผมมองว่า ธุรกิจส้มที่ผมทำอยู่จนถึงตอนนี้ สร้างผลกำไรให้แล้วราว 40-50% ซึ่งเป็นที่พอใจ ขณะนี้ส้มแมนดารินหมดฤดูไปแล้ว ก็เลยต้องหยุดธุรกิจตัวนี้ไว้ก่อน และกำลังมองหาธุรกิจตัวต่อไปซึ่งผมดูๆ ไว้ น่าจะนำเข้าองุ่นแดง อันนี้ก็จะต้องศึกษากันต่อไป
ล่าสุดธุรกิจที่ 3 เปิดตัว “ส้มโอไทย” สู่ตลาดผู้บริโภคใหญ่ในนครเฉิงตู
น้องพศินกล่าวว่า “ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ นครเฉิงตู ที่ช่วยชี้แนะลู่ทางและเป็นสะพานเชื่อมโยงให้ผมได้มีโอกาสพบกับ “คุณหวัง หลินตง” เจ้าของบริษัทค้าส่งผลไม้รายใหญ่ที่สุดในนครเฉิงตู”
ถือเป็นความบังเอิญและความโชคดีมากครับที่ได้แวะมาที่นครเฉิงตูเพื่อพบปะทักทายเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไม่ได้พบกันนานหลังจากที่ไปทำธุระที่เมืองอื่นมา ซึ่งการมาในครั้งนี้ไม่นึกว่าจะได้ในเรื่องของธุรกิจด้วย ทันทีที่ได้รับคำแนะนำจากศูนย์ข้อมูลธุรกิจฯ ผมก็ได้ตัดสินใจที่จะส่งออกส้มโอมานครเฉิงตูด้วยเงินลงทุนที่ 2,000,000 บาท
น้องพศินให้ข้อมูลว่า ส้มโอที่วางขายในตลาดนครเฉิงตูโดยทั่วไปมาจากไต้หวัน มีรสอร่อยเหมือนของไทย และมองว่ามีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส้มโอของไทยเรามีหลายพันธุ์ จากที่ผมได้ศึกษาตลาดทั่วจีนพบว่า ผู้บริโภคชาวจีนส่วนมากรู้จักและชอบรสชาติของส้มโอ “พันธุ์ขาวแตงกวา (ชีสือโร่ว)” จากนครชัยศรี เพราะมีผลใหญ่ เนื้อแน่นเป็นสีขาว แต่ในไทยเรานั้นพันธุ์นี้หายาก มีผลผลิตน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดในจีน
หลังจากที่น้องพศินได้พบปะเจรจาทางธุรกิจกับคุณหวังฯ เป็นผลสำเร็จ น้องพศินเล่าให้ฟังต่อว่าผมต้องรีบเดินทางกลับไทยและเร่งจัดเตรียมส้มโอตามปริมาณการสั่งซื้อหลังจากนี้อีก 1 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่กระชั้นมาก ต้องวัดดวงโดยเราต้องออกทุนเป็นจำนวนหนึ่งเพื่อจองสินค้าไว้ก่อน จากนั้นคุณหวังฯ ได้โอนเงินมัดจำมาให้ตามสัญญาและส่ง ผจก. เดินทางมาดูผลผลิตที่ไทย ทำให้ผมมความมั่นใจในการทำธุรกิจมากกขึ้น และพบว่าทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงที่เจรจากันไว้ จึงเริ่มต้นส่งส้มโอ มาทีละตู้คอนเท็นเนอร์ โดยใช้เส้นทาง R3A รวมเวลาขนส่งประมาณ 4-5 วัน มาถึงตลาดซื่อหม่าเฉียว นครเฉิงตู ถึงตอนนี้ได้ส่งออกไปแล้วเป็นจำนวน 2 ตู้คอนเท็นเนอร์ จากสัญญาที่ตกลงกันไว้ที่ 5 ตู้คอนเท็นเนอร์
เส้นทางธุรกิจส่งออกส้มโอไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ
บอกได้เลยครับว่าไม่ราบรื่นอย่างที่คิดไว้ ผู้ส่งออกรายเล็กอย่างผมจำต้องเผชิญหน้ากับบริษัทส่งออกรายใหญ่ที่มีตลาดกว้างขวางมากในนครเฉิงตูรวมถึงเมืองอื่นๆ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบในรายสินค้าทันที หลังจากที่คุณหวังฯ แจ้งมาว่าส้มโอล็อตแรกที่ผมส่งให้นั้นมีคุณภาพดีไม่เท่ากับบริษัทรายใหญ่ ส้มโอยังดิบไป น้ำน้อย ทำตลาดยาก จำต้องกระจายสินค้าฝากขายไปยังตลาดกว่างโจวเป็นจำนวนมาก
ปัญหาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการไม่ศึกษาตลาดในถี่ถ้วนของ จนท. บริษัทคู่ค้าเอง ทั้งๆ ที่ผมได้ให้ข้อมูลการคัดสรรส้มโอที่เหมาะสมและสุกพอดีที่ถึงมือผู้บริโภค ซึ่งปัญหาดังกล่าวสร้างความลำบากใจตรงมาที่ตัวผมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความท้าทายใหม่ได้บังเกิดขึ้นแล้ว
โชคดีที่คุณหวังฯ ยังสู้การทำตลาดด้วยการสั่งซื้อตู้ที่ 2 (ตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้) และประสบการณ์จากตู้แรก ทำให้ผมคัดเลือกส้มโอได้ถูกต้องตามความต้องการของตลาดส่งมายังนครเฉิงตู แต่การขายยังไม่ราบรื่นนัก ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า สาเหตุที่ตลาดยังไม่ตอบรับสินค้าของเราเท่าที่ควร
“เป็นเพราะเราเป็นรายเล็ก ยังไม่มีเครดิต ยี่ห้อยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการ จึงยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ ต่างกับรายใหญ่ที่มาพร้อมกับคุณภาพ ชื่อเสียงและยี่ห้อที่ติดตลาด ไม่ว่าจะมีกลยุทธ์การขายอย่างไร เพียงแค่เอ่ยชื่อถึงก็สามารถจำหน่ายออกไปได้อย่างรวดเร็ว”
ผมเข้าใจได้เลยว่า หนทางไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ สิ่งที่ได้มา คือ อีกประสบการณ์ที่เป็นกำไรในชีวิต ได้กำไรบ้าง การปรับกลยุทธ์สร้างเครดิตให้กับแบรนด์ของตนเองเป็นสิ่งที่ผมต้องปฏิบัติ และผมเชื่อว่ายังสามารถมีโอกาสทำตลาดได้ในนครเฉิงตู เพราะที่นี่ยังต้องการบริโภคส้มโอไทยอีกเป็นจำนวนมาก
น้องพศินวางเป้าหมายการทำตลาดในจีนไว้ว่า เราต้องเลือกตลาดที่มีความเป็นไปได้สำหรับตัวเรา ก้าวต่อไปจะไปที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นเมืองหลวง ประชากรทีมีกำลังซื้อสูงมีเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีเมืองรองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง กว่างซี คุนหมิง เมื่อมองดูแล้วมีโอกาส แต่ก็ท้าทายตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้ตลาดที่มีขนาดใหญ่มากรู้จักเรา และพอจะมีที่ว่างสำหรับเราในตอนนี้ เพราะในแต่ละที่ก็จะมีผู้ส่งออกรายใหญ่ที่เป็นทั้งเจ้าเก่าเจ้าประจำอยู่แล้วทำให้ยากที่จะแทรกตัวเข้าไป
ธุรกิจที่ 4 นำเข้าองุ่นแดงจากจีนสู่ไทยกับเป้าหมายการสร้างแบรนด์ “Mandarin Best (蜜桔)” ให้เป็นที่รู้จักในจีน
ผมทราบว่าหนึ่งในแหล่งผลิตองุ่นแดงของจีนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ในมณฑลเสฉวน และมณฑลยูนนาน ซึ่งตอนนี้ผมกำลังศึกษาการทำตลาดอยู่ แต่ในครั้งนี้ผมจะมีแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจ คือ
“จะทำอย่างไรที่จะลดความเสี่ยงโดยที่เราไม่ต้องลงทุนเอง โดยใช้ชื่อแบรนด์ของเราเองที่เริ่มมีชื่อแล้วในตลาดให้เป็นประโยชน์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้าจีนรู้จักเรามากขึ้น”
ศักยภาพของนครเฉิงตูและมณฑลเสฉวนในมุมมองของน้องพศิน
นครเฉิงตู มีศักยภาพ เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว น่าอยู่ ผู้บริโภคมีศักยภาพ กำลังซื้อสูง แต่ประชากรยังไม่หนาแน่นเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อย่างกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้
นอกจากนี้ ในมณฑลเสฉวน (ที่ใหญ่ใกล้เคียงกับประเทศไทย) ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่ใหญ่มาก ทั้งในกลุ่มที่เป็นผักสวนครัว อาทิ บล็อคโคลี่ ผักกาดขาว แครอท แตงกวา กะหลี่ หัวไช้เท้า รวมถึงเป็นแหล่งปลูกผลไม้สำคัญโดยเฉพาะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย เช่น ส้มฟรีมองต์ ส้มแมนดาริน องุ่นแดง และลูกท้อ เป็นต้น
เทคนิคการทำธุรกิจกับจีนตามแบบฉบับของน้องพศิน
เราต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีสัจจะ เอาใจใส่ลูกค้า สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นระหว่างเรากับลูกค้า เข้ากับผู้ใหญ่ให้เป็น และต้องเรียนรู้ประสบการณ์ รู้จักเข้าสังคม
ข้อควรคำนึงถึงในการทำธุรกิจกับจีน
เราต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน รู้จักรักษาความลับข้อมูลสำคัญทางธุรกิจของตนเอง ที่สำคัญการทำธุรกิจต้องมีการทำสัญญาระหว่างกันเพื่อเป็นหลักฐาน สำหรับในธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตรนั้นละเอียดอ่อน ก่อนส่งมอบสินค้า ต้องมีการส่งตัวแทนมาควบคุมดูแลตรวจงาน ต้องมีความเด็ดขาดว่ากันไปตามคุณภาพของสินค้า
นอกจากนี้ ต้องมีความระมัดระวังในการใช้ภาษาติดต่อสื่อสาร อักษรในเอกสารที่เป็นภาษาจีนต้องมีความชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยเฉพาะชื่อเรียกสถานที่ อาทิ ท่าเรือที่นำเข้าส่งออกสินค้า ที่ภาษาจีนและไทยเรียกไม่เหมือนกัน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความล่าช้าในการส่งสินค้าระหว่างกัน รวมถึง การเลือกบริษัทชิปปิ้ง ต้องเป็นรายใหญ่ เพราะมีข้อดี คือ สามารถรับผิดชอบให้เราได้ในกรณีที่สินค้าเกษตรเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง
น้องพศิน กับความฝันสู่การเป็นนักธุรกิจยุค Golden Boy
น้องพศิน ให้คำจำกัดความของ “Golden Boy” ไว้ว่า เป็นเด็กวัยทีนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่มีความใฝ่ฝันจะมีธุรกิจเป็นของตัวเองสร้างแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันในแวดวงธุรกิจ หาแนวทางสร้างมิตรภาพ รู้จักผู้คนหลากหลายวงการ เพื่อบุกเบิก ต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่ๆ สู่ช่องทางแห่งความสำเร็จในช่วงที่อายุยังน้อย
ความฝันของน้องพศิน คือ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ต่างๆ เพื่อเสาะหาช่องทางสร้างสรรค์ธุรกิจในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น
“ขณะนี้เป็นการเริ่มต้นของผม ผมคิดว่าต้องปูแนวทางเบื้องต้นให้กับตัวเราเองก่อนถึงจะไปได้ไกลกว่านี้ ในความคิดตอนนี้ที่อยากจะทำ คือ การชักจูงเด็กรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดเหมือนกัน มาร่วมกันสร้างสรรค์ธุรกิจไปด้วยกัน และขยายออกไปเรื่อยๆ หากทำเพียงลำพังมีขีดจำกัด ซึ่งตอนนี้ก็มีเพื่อนคนญี่ปุ่น คนจีน และชาวต่างชาติที่อยู่ในรุ่นเดียวกันหลายรายพร้อมที่จะเดินก้าวไปด้วยกันกับผมแล้ว”
รูปภาพประกอบ